กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
“ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
“ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิง 9 ขวบประมาณนี้ที่เราจะเห็นว่าเขาอาศัยอยู่กับตายายโดยที่ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ไม่มีน้อง ไม่มีพี่ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความสุขในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียน หรือการไปพายเรือกับตา หรือทำการบ้านเล่นกับเพื่อน จนอยู่มาวันหนึ่งเรื่องก็พัฒนาไปถึงว่า เขาจะต้องไปหาแม่ที่ไม่ได้เจอมานาน เขาตัดสินใจว่าเขาต้องกลับไปพบแม่อีกสักครั้งหรือไม่ หลังจากที่พบแล้วแม่ก็เสียแล้วแม่ก็ได้ทิ้งคำถามว่ากะทิจะต้องเลือกทางเดินชีวิตด้วยตัวเองว่า จะกลับมาอยู่กับตายายหรือไปอยู่กับพ่อ ซึ่งกะทิก็ได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขที่สุด
ฉากประทับใจมีฉากไหนบ้าง
ฉากที่ประทับใจคือ ตอนอ่านหนังสือก็อย่างหนึ่ง ตอนถ่ายทำก็อีกอย่างหนึ่ง ตอนอ่านหนังสือเราประทับใจฉากที่กะทิวิ่งบนชายหาด เราเห็นกะทิวิ่งกำมือแน่นแล้วลมก็พัดเข้ามา กรีดน้ำตาที่ค่อย ๆ ทยอยไหลออก เราเห็นเป็นภาพสโลว์โมชั่น ไม่น่าเชื่อว่าในหนังสือไม่ได้เขียนว่ากะทิวิ่งอย่างช้า ๆ นะ แต่เราเห็นเลยว่าฉากนี้เราอยากจะถ่ายแบบสโลว์โมชั่นที่สุด ให้เห็นรายละเอียดน้ำตาที่ค่อย ๆ ไหลออกมา ผมที่ค่อย ๆ ปลิวที่กระทบกับลม สีหน้าที่เขาค่อย ๆ เปลี่ยนจากอารมณ์ปกติแล้วมาเป็นแบบอารมณ์ที่ระเบิดออกมา เรารู้สึกว่ามันเป็นภาพที่สวยงาม แล้วมันก็สวยงามเพราะมันเป็นความหมายของชีวิตที่เป็นชีวิตจริง ๆ เมื่อคนที่มีอารมณ์ที่ไม่ไหว มันก็ต้องระเบิดออกมา เราก็เลยชอบฉากนี้มาก พอเราเห็นภาพเราก็อยากทำมาก ฉากนี้ถ่ายทำยาก เพราะว่าหาดทรายก็ต้องสวย น้ำก็ต้องลง แบ็คกราวด์ก็ต้องเป็นเกาะนมสาว กล้องก็ต้องไม่มีการตัดต่อเลย รถกล้องก็ต้องอยู่บนสแตนดี้แคม ถ่ายด้วยความเร็วไฮสปีดถ่ายเทคหนึ่งต้องเปลี่ยน 1 ม้วนมีความยากหมดเลย ท้าทายทุกอย่าง ต้องให้น้องค่อย ๆ วิ่ง เพราะคิดว่าเทคเดียวคงไม่ผ่าน ต้อง 4-5 เทค เป็นอะไรที่แบบถ่ายทำยากจริง ๆ ความประทับใจที่มีอยู่แล้วก็ประทับใจเหมือนเดิม แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ฉากที่ประทับใจที่สุด เนื่องจากมันยากด้วย แต่ก็ออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่คิด
แต่ฉากที่ผมประทับใจที่สุดจริง ๆ ก็คือเป็นฉากที่กะทิเขาอยู่กับแม่ ซึ่งฉากนี้แน่นอนเป็นฉากที่เรียกน้ำตา ในหนังสือพูดถึงฉากนี้น้อยมาก เนื่องจากว่าแม่พูดน้อย แต่เราอยากให้ในเรื่องแม่เจอกะทิ ผมตีความของผมเองว่าไม่ได้เจอลูกมาตั้งหลายปี เขาต้องพูดน่ะ ต้องพูดอะไรมาก็ได้ อยากจะลบล้างความผิดหรือว่าอยากจะพูดอะไรให้รู้สึกดี เป็นความรู้สึกครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องพูดเราต้องพูดออกมา เพราะฉะนั้นผมจะขียนบทคนเดียวให้แม่พูดคนเดียวประมาณหน้า สองหน้า พูดไปก่อนยังไงก็ต้องพูดให้เข้าใจบ้าง จะฟังอย่างตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง แต่อยากให้เข้าใจแม่ว่าสิ่งที่แม่ถ่ายทอดออกมาต้องเหนื่อยยากหรือว่าเป็นความรู้สึกที่เจ็บป่วยแค่ไหนที่ต้องทอดทิ้งตัวเองไป ฉากนี้เป็นฉากที่ผมค่อนข้างใช้อารมณ์หน้ากองเยอะค่อย ๆ ซ้อมแล้วค่อย ๆ สังเกตพฤติกรรมสีหน้าของกะทิเขารู้สึกยังไง เขาฟังแล้วเขารู้สึกอย่างไร เขามีปฏิกิริยากับสิ่งที่แม่พูดบ้างไหม ซึ่งพอเล่นแล้วฉากนี้กะทิพูดแค่ประโยคสองประโยคแค่นั้นเองว่า “หนูรักแม่ หนูเข้าใจ หนูรักแม่ที่สุดในโลกเลย” ซึ่งมันเป็นประโยคนิดเดียวซึ่งมันเรียกน้ำตาทีมงานได้ มันทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจกับมันมาก แต่มันได้ผลเกินคาดขนาดนั้น บอกให้กะทิฟังว่าเรากำกับแบบว่าไม่ต้องร้องไห้ แต่เราคาดหวังว่าถ้าร้องมันจะเป็นฉากร้องไห้ที่สวยงามมาก แต่ถ้าร้องจะร้องออกจากใจ ร้องออกจากความรู้สึกจริง ๆ ยิ่งกว่าการแสดงด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่เขาฟังแม่ไปพูดไปว่า เขาไม่ได้อยากทอดทิ้งลูกหรอกนะ แม่ขยับตัวไม่ได้แล้ว แม่กอดหนูไม่ได้แล้ว แล้วแม่กำลังจะจากหนูไปหนูเข้าใจแม่ใช่ไหม เขาก็กอดแม่แล้วอยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้โดยที่เราไม่ได้บอกให้เขาร้องไห้ แล้วก็บอกว่าหนูเข้าใจ หนูรักแม่ที่สุด เชื่อว่าตอนนั้นเขาไม่ได้ร้องไห้คนเดียว ช่างภาพก็ร้อง ผู้กำกับก็ร้อง ทุกคนก็ร้องไห้ไปกับเขา เชื่อว่าคนที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ก็ต้องร้องไห้ไปกับเขาด้วย
พูดถึงฉากที่แสดงความเป็นไทย
แน่นอนถ้าเราทำงานกับบทประพันธ์เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกเรื่องอย่างเช่น ฉากบางฉากที่เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบก็มีอย่างเช่นว่า กะทิจับมือน้าฎาน้ากันต์มากุมมือกัน เราเขิน ๆ เราเป็นผู้ชายเรารู้สึกว่าเพราะหนังมันก็สะท้อนตัวตนผู้กำกับ ถ้าสมมติว่าไม่มีคุณงามพรรณมาเขียนด้วยจะเป็นบทที่ผู้ชายมาก แบบว่าเป็นทอมเตะต่อยได้คงน่าจะใกล้เคียง เพราะเราไม่ใช่ผู้หญิงอ่ะนะก็เลยไม่มีบาลานซ์สัดส่วนของผู้หญิงมาด้วย แต่มันก็ยังมีมุมมองของผู้ชายอยู่ เพราะฉะนั้นผู้ชายมันก็มีความรู้สึกต่อต้านอะไรบ้าง อย่างอารมณ์อะไรบ้าง อย่างให้เด็กมาจับมือกันมันดูน่ารักสำหรับผู้หญิง แต่สำหรับเราไม่ใช่ เราเป็นผู้ชายเราเขิน เราก็ไม่อยากให้ฉากนี้มี
หรือฉากที่ว่ากะทิหนูอยากไปเที่ยวไหนไหม เราก็พาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าซึ่งเราไม่ชอบให้เด็กไปเที่ยวห้าง ซึ่งในเรื่องกะทิก็ไม่ได้ใช้มือถือนะ ผมรู้สึกว่าผมรับไม่ได้สำหรับภาพที่ออกไปให้คนดูเห็นระบบทุนนิยม ถ้าสมมติจะเสียดสีมันก็จะผิดทาง ก็จะกลายเป็นว่ากะทิสนุกไปกับห้างสรรพสินค้าซึ่งไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ซึ่งผมต้องคิดแก้ไขฉากบางฉากอย่างเช่น ฉากที่เขารอคอยพ่อหลังจากที่เขาส่งจดหมายไป เราอยากให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์คือ ไม่ได้อยากให้ซีเรียสนะ แต่อยากให้มันสนุกได้แบบไทย ๆ อย่างไปดูหุ่นละครเล็กได้ความหมายถึงความรู้สึกของตัวกะทิด้วยว่า เขารอคอย เพราะว่าเราให้หุ่นละครเล็กเล่นเรื่องรามเกียรติ์ เราก็เอาหลายระดับเลย เด็กที่ไม่ได้ดูรามเกียรติ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยดูรามเกียรติ์ก็ได้ดู ความหมายของเรื่องสีดากำลังลุยไฟ ฉากที่สีดากำลังลุยไฟ เพราะว่าพระรามไม่เชื่อว่าไปอยู่กับทศกัณฑ์ มีอะไรหรือเปล่า มันเป็นผู้หญิงมันสะท้อนถึงความเป็นผู้หญิงที่ยากมากเวลาอยู่ในสังคมแบบนี้ มันก็เป็นแบบถ้าจะเป็นฉากสัญลักษณ์มันก็ใช้ได้ ได้ความสนุกเห็นสีสันของตัวละคร เห็นถึงความสัมพันธ์ของกะทิและน้า ๆ ด้วย เหมือนเป็นการดัดแปลงบทภาพยนตร์ที่เป็นทางที่ดีขึ้นแทนที่จะให้กะทิไปเดินที่ห้าง อีกอย่างหนึ่งถ้าถูกไปฉายในต่างประเทศมันก็จะเป็นแบบเหมือนหุ่นละครโจหลุยส์ ชาวต่างชาติก็มาเห็น ยิ่งหุ่นละครเล็กที่หาดูยาก ยิ่งรามเกียรติ์ด้วย ยิ่งฉากสีดาลุยไฟด้วย ผู้กำกับก็สนุกมากเลยในการคิดบทละครนี้ขึ้นมา มันจะสะท้อนความรู้สึกในหลาย ๆ อย่างได้ด้วย
อย่างฉากพายเรือมันก็สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนทุกวันนี้ก็ยังมีพระบินฑบาต พายเรือมารับบาตรเหมือนกัน มีชาวบ้านที่พายเรือมาตักบาตรอยู่ริมคลอง เดี๋ยวนี้มีก็น้อยเนื่องจากว่ามีเรือใหญ่เข้ามาแล้ว แต่ก็จะมีคลองบางที่ที่เขาเรียกว่าคลองตาย เรือใหญ่เข้าไม่ได้ เขาก็ยังสัญจรไปมาขายกันบนเรือ มันไม่ใช่เป็นตลาดนัด มันไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอาจมองว่าวิถีชีวิตชุมชนแบบกะทิมันไม่มีอยู่จริง แต่มันยังมีอยู่จริง แต่พวกคุณอาจจะยังหามันไม่พบเท่านั้นเอง มันก็จะสะท้อนความเป็นไทยลักษณะแบบนี้ขึ้นมา
คราวนี้จุดหักเหของเรื่องตอนที่กะทิตัดสินใจว่าจะไปหาแม่หรือเปล่า อยู่ดี ๆ กะทิจะรู้เองไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องเป็นผู้ใหญ่อย่างยายไปถามเขาว่าจะไปไหม เพราะว่าอาการโคม่าแล้ว จดหมายทางหมอก็บอกตา แล้วไม่รู้จะทำยังไงอยู่ดี ๆ จู่ ๆ ไปบอกเลย มันก็ไม่มีลีลาในการเล่า ในหนังสือมันเล่าได้ เนื่องจากว่าต้องบรรยายอารมณ์ของยายว่า เขารู้สึกอย่างไรแล้วก็เรียกหลานมา แล้วอยู่ ๆ ก็เปลี่ยนหน้าไปเลย แล้วก็ขึ้นหัวใหม่ อันนี้มันทำได้ไง เพราะว่ามันเป็นทางเทคนิคงานเขียน แต่ทางหนังมันไม่ได้ มันต้องมีฉากอะไรที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยง เพราะนึกว่าถ้าคนที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่เชื่อมไปคือยาย ยายจะต้องรู้สึกอะไรบางอย่างแล้วต้องนำพาพลังที่ตัวเองรู้สึกเรียกหลานมาแล้วเล่าให้ฟัง เราก็เซ็ตให้ฉากหนึ่งเป็นฉากที่ตายายคุยกันเรื่องว่าจะทำยังไง กะทิจะไปหาแม่ดีไหมว่า คุยกันหลายรอบแล้วอะไรแบบนี้ ก็เลยเกิดฉากเทศน์มหาชาติขึ้น เพราะผมเป็นคนที่ชอบอะไรไทย ๆ มาก เทศน์มหาชาตินี้ก็เรียกว่า 10 คนเคยไป 2 คนนะ ทุกวันนี้ก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทำหนังให้ต่างชาติดูอย่างเดียว เราอยากทำหนังให้คนไทยดู คนไทยก็จะได้เห็นงานเทศน์มหาชาติให้ฟังกัณฑ์มัทรี ส่วนใหญ่เราก็เป็นชาวพุทธนะ กัณฑ์พระเวสสันดรก็จะรู้ว่าการพูดถึงความผูกพันระหว่างแม่ลูก มันก็จะมาอยู่ในหนังเมื่อยายได้ฟังกัณฑ์มัทรี ฟังพระแหล่ ไม่ใช่เป็นเทศน์นะทำนองแหล่ซึ่งหาฟังยากไปกันใหญ่ มีอาจารย์ครูมืด-ประสาท ทองอร่ามมาเล่นเป็นบทหลวงลุง แล้วก็มาแหล่ให้เราฟัง เพราะมาก ๆ แล้วก็ตัดภาพไปที่ยาย คนเป็นแม่อายุขนาดนี้ฟังกัณฑ์นี้ร้องไห้หมด พอเราเริ่มร้องไห้น้ำตาไหลก็เริ่มคิดแล้วว่า แม่กะทิต้องคิดถึงลูกเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นแรงผลักอย่างดีในการที่ตามาบอกว่าไม่ยอมแล้วนะ ยังไงก็ต้องทำให้เขามาเจอกันให้ได้ ก็เลยเป็นฉากที่กะทิต้องมาเจอกับตายายแล้วมาตัดสินใจว่า หนูอยากไปหาแม่ไหมลูก อันนี้ก็เป็นฉากหนึ่งที่เราก็ไม่ได้นำเสนอความเป็นไทยอย่างเดียว แต่มันเป็นมุมมองสะท้อนความรู้สึกของตัวละครที่จะนำพาไปสู่เรื่องอีกเรื่องหนึ่งได้ด้วย
ตั้งแต่ถ่ายทำมามีอุปสรรคหรือปัญหาในการถ่ายทำอะไรบ้าง
แน่นอนอุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องเวลา เพราะว่าเราเตรียมงานกันมาช่วงปลายปี เราจะเปิดกล้องช่วงมกราคม กุมภาพันธ์ก็ไม่ได้ เพราะว่ามันติดขัดในเรื่องของการสร้างฉาก เตรียมเสื้อผ้า เตรียมนักแสดง กว่าเราจะได้ถ่ายทำจริง ๆ เสร็จจริง ๆ ก็เกือบเดือนเมษายนแล้ว คิวทั้งหมดที่เราได้ถ่ายทำมันก็ประมาณ 20 กว่าคิวเท่านั้นเอง เนื่องจากว่าคอนโดมันก็มีเวลาบีบให้เราถ่ายได้ไม่กี่วันเพราะว่าจะมีคนย้ายเข้ามาแล้ว ค่าเช่าเป็นแสนนะต่อเดือน เราก็จ่ายให้เขา อย่างบ้านริมคลองเราก็ต้องรีบถ่ายเนื่องจากว่าอยุธยายิ่งแล้งก็ยิ่งไม่มีน้ำ มันก็ต้องแข่งกับเวลา ต้องรีบทำให้เสร็จ มันก็มีอุปสรรคเรื่องของการสร้างศาลาว่า คุณจะทำยังไงให้วันถ่ายน้ำมันขึ้นมาที่ตรงนี้พอดี ไม่งั้นพอหลวงลุงพายเรือมาก็ต้องแหงนหน้ามองเพราะบันไดสูงมากน้ำมันลงไปเยอะจนเกินไป ถ้ามันปริ่มขึ้นมาพอดีเป๊ะมันก็จะดูตลกมาก เรารู้สึกว่าเราก็ต้องไปดูในแต่ละวันว่าจังหวะน้ำขึ้นน้ำลงเป็นยังไง มันก็มีเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ เรื่องของดวงจันทร์ เรื่องของแรงดึงดูด แต่ที่แน่ ๆ ถ้าช้าไปกว่านี้ มันลงไปตลอดแน่นอน อีกอย่างหนึ่งพอน้ำลงตลิ่งมันไม่สวยเนื่องจากมูลต่าง ๆ ที่มันสะสมเป็นตะกอน มันก็จะงอกขึ้นมาทำให้ฉากมันต้องแก้ไขเยอะ ต้องเอาต้นไม้ไปลงก็เลยต้องรีบถ่าย นี่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งเรื่องของธรรมชาตินั่นเอง
เรื่องอุปสรรคของชายหาดที่หัวหินก็จะเป็นเรื่องชายหาด เพราะที่ชายหาดก็จะมีน้ำขึ้นน้ำลง กะทิจะลงไปเดินหรือวิ่งได้ เราก็ต้องเช็คตารางน้ำขึ้นน้ำลงมัน ก็ต้องมีการสลับฉากก่อนหลังให้ดี ไม่งั้นถ้าพลาดไปวันหนึ่งก็ถือว่าเสียหาย ส่วนใหญ่ก็เป็นอุปสรรคแบบนี้มากกว่า เรื่องเวลาที่มาบีบธรรมชาติในการทำงาน ส่วนของทีมงานความพร้อมเพรียงไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากว่าทุกคนทำงานได้ดีมาก ทีมงานมืออาชีพดี ทีมงานที่เราเลือกมาต่างคนก็ไว้ใจได้หมด ส่วนนักแสดงเรื่องของการแสดงก็ไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว เพราะเป็นมืออาชีพทุกคน น้องกะทิก็สามารถเข้ากับทุกคนได้ดีมีแต่รอยยิ้มเราไม่เคยดุด่ากัน เพราะเราบอกไว้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่า เราจะมีแต่ความสุขในการทำงาน ผู้ช่วยผมไม่มีใครพูดคำหยาบ ช่างภาพผมก็ไม่มีใครพูดคำหยาบ เพราะมีเด็กอยู่ บุหรี่ต้องไปสูบไกล ๆ เหล้าก็อย่ากิน มันก็ทำให้รู้สึกว่าดูเป็นกันเองดูเป็นครอบครัวเดียวกัน อุปสรรคที่มันเข้ามาดูไม่ใช่เป็นอุปสรรค ดูเป็นเรื่องที่ดูฮากันไป ผิดพลาดอะไรก็ให้อภัยกันไป ไม่มีอุปสรรคอะไร เนื่องจากเราวางเราสร้างพื้นฐานการทำงานที่มีความสุข มันก็เลยทำให้ทุกอย่างลงตัว
ตัวผู้กำกับมีความกดดันมากน้อยแค่ไหนกับผู้ที่เคยอ่านหนังสือมาก่อน
มันมีความกดดันบ้างเล็กน้อย เนื่องจากว่าเราทำหนังสตูดิโอค่ายใหญ่เราก็อยากให้หนังได้เงิน เหมือนที่ใครบอกว่าทำหนังแล้วไม่อยากได้เงินมันก็เป็นไปไม่ได้เพราะว่าจริง ๆ เราทำงานเราต้องรับผิดชอบหลาย ๆ อย่างคือ หนึ่งรับผิดชอบกับตัวเองอยากมีลายเซ็นต์ของตัวเองที่ทำในสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองฝันไว้ สองคือรับผิดชอบต่อผู้ชมเพราะผู้ชมก็คงอยากจะได้สาระที่ดี ๆ จากหนังมีความประทับใจให้มันตราตรึงมีความเป็นอมตะ สามคือต้องรับผิดชอบต่อนายทุนอันนี้เป็นเป้าหมาย คือนายทุนลงเงินมาเขาก็ควรจะได้เงินกลับไปถึงจะได้ไปไม่มากแต่ก็ไม่ควรจะต้องเจ็บ เพราะฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบสิ่งนี้ นี่คือความกดดัน ผมไม่ใช่ว่าเป็นศิลปินทำหนังก็ทำไป ไม่ใช่ว่าจบมาเป็นยังไงไม่รับผิดชอบมันไม่ใช่ แล้วเรารู้สึกว่าเสี่ยเจียงเขาก็ลำบากกับหนังไทย ต่อสู้กับหนังไทยมาขนาดนี้แล้วเราไม่ได้หลอกเขาว่าเราจะทำ “ความสุขของกะทิ” แล้วไม่ได้เงิน มันต้องได้เพราะหนังสือถูกตีพิมพ์ขนาดนี้ มีคนรู้จักตั้งมากมาย มันก็มีความกดดันเล็กน้อยแต่ก็เชื่อว่ามันน่าจะฝ่าฟันผ่านพ้นไปได้ดีนะครับ
ความคาดหวังของผู้กำกับต่อหนังเรื่องนี้
ความคาดหวังหลังจากที่เริ่มทำหลังจากที่เราเป็นนักศึกษาภาพยนตร์แล้วก็มีอุดมคติ มีอุดมการณ์อยู่พอควรเราจะเอาความฝันกับความจริงมารวมกันได้อย่างไร เราอยากทำหนังที่สะอาด มีสาระ แต่ดูสนุกทำแล้วได้เงินนายทุนชอบ ได้ดาราดี ๆ ที่เราต้องการได้อย่างเชอร์รี่ อย่างพี่น้อย คุณรัชนก อยากได้ดาราที่ไม่มีข่าวเสียหายแบบเชอร์รี่ อยากได้นางเอกที่แบบไม่มีใครมาแซวว่าเขาทำตัวไม่ดี อยากได้คนอย่างพี่ไมเคิลที่เวลาหนังไปฉายต่างประเทศแล้วคนชอบ เพราะว่าคนรู้จัก อยากได้คนรุ่นปู่ย่าตายายที่เคยชอบคุณอาสะอาดแล้วก็ป้าแมวมาดูคู่ขวัญคู่นี้ อยากได้แม่บ้านแม่ยกทั้งหลายที่ชอบพี่น้อยหรือคนที่ชอบละครเชอร์รี่มาดูหนังก็คือเอาได้ทุกกลุ่ม เรียกว่าเรื่องนี้คลายความกดดันไปได้ว่ามันน่าจะประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว เราก็เลยคาดหวังอะไรพวกนี้ด้วย อันนี้คือความเป็นจริงนะ ส่วนหนึ่งเราทำหนัง เราก็ต้องมองว่ามันเป็นงานศิลปะเหมือนที่บอกว่าเมื่อมันเป็นศิลปะแล้วมันย่อมส่งผลประโยชน์และให้ผลสำเร็จได้
ผมก็มีความคาดหวังว่าผมจะต้องเป็นนายของหนังให้ได้ เป็นนายของหนังในที่นี้คือสามารถที่จะทำทุกอย่างที่อยู่ในหนัง ถ้าคุณไม่ชอบอะไรคุณว่าผมได้เลยผมดูแลมาตั้งแต่ต้นจนจบ ผมจับเนื้อผ้าเอง ผมวางกระถางต้นไม้ตรงนี้เอง สีนี้เอาออก ลูกโป่งนี่เอากี่ดอกกี่ลูก แล้วตอนตัดต่อเราเลือกตัดต่อเอง คือโปรดักชั่นนี้ผมสามารถเลือกทีมงานได้ทุกคน เลือกดาราได้เองทุกคน เขียนบทเองด้วย มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าความคาดหวังที่เราทำถูกต้องถูกทางคือเราได้เป็นนายของหนังซึ่งเป็นความคาดหวังของนักทำหนังทุกคนที่อยากจะทำหนังคือ จริง ๆ ความสำเร็จ-ไม่สำเร็จมันไม่ใช่เรื่องสำคัญกับชีวิต มันอยู่ที่การเดินทางของชีวิตคุณมากกว่า ว่าแต่ละช่วงคุณได้เจอกับอะไรบ้างแล้วคุณได้พัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน ถ้ารู้สึกว่าดูหนังฮอลลีวู้ดแล้วอยากทำได้แบบเขาแล้วเรารู้สึกว่า เราต้องทำแบบนี้เราต้องไปให้ถึง แล้วเราจะอยู่นิ่งกับที่ได้ยังไง จุดเริ่มก็คือเราต้องรับผิดชอบต่อตัวเองให้ได้ก่อน
เสน่ห์และความน่าสนใจของหนัง
ทุกวันนี้สังคมเราค่อนข้างซับซ้อน สับสนวุ่นวาย แต่หนังเรื่องนี้ตรงกันข้าม คือไม่ซับซ้อนมาก ไม่วุ่นวาย ค่อนข้างเรียบง่าย เหมือนว่าเสาร์-อาทิตย์คุณขับรถไปที่สวนผึ้งราชบุรี คุณไปต่างจังหวัดอยู่เงียบ ๆ เป็นสิ่งที่คุณต้องการโหยหาแต่คุณไม่ต้องขับไป คุณแค่มาดูหนังเรื่องนี้ก็จะได้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความสับสนวุ่นวายนั้นก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่ง สองคือทุกวันนี้เราอยากได้ความเป็นไทยซึ่งเราต้องไปซื้อสินค้าโอท็อป (OTOP) ไปซื้อผ้าไทยมาใส่ กลายเป็นว่าเราต้องเอาความเป็นไทยมาขายคนไทยด้วยกัน เรื่องนี้เราไม่ได้คิดว่าเราขาย แต่มันเป็นหนังไทย เป็นสินค้าของไทยอยู่แล้ว เสน่ห์ของมันคือ วิถีชีวิตของคนไทยที่อยุธยา วิถีชีวิตของคนเมืองที่อยากไปอยู่ที่อยุธยา วิถีชีวิตของเด็ก ของนักเรียน เพื่อน ครอบครัวหรือเป้าหมายของชีวิตที่สำคัญคืออะไร ผมว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งที่คนดูจะได้ คือฉากที่ตาของกะทิพายเรือกัน ฉากธรรมชาติ เราได้ดูหุ่นละครเล็กอะไรอย่างนี้ หรือที่หัวหินทะเลไทยเป็นอย่างไร มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือเรื่องของความเป็นไทยที่สำคัญที่สุดคือความประณีต เสน่ห์ของความประณีตคือเรื่องของงานสร้าง เรื่องของการทำงาน การตัดต่อ เพลงที่ใช้ เสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมันมีความประณีตบรรจงใกล้เคียงกับต้นฉบับที่ถูกเขียนโดยประณีตด้วยถ้อยคำที่สวยงาม และความประณีตทางด้านอารมณ์ ความซาบซึ้งประทับใจระหว่างแม่กับลูกที่เขาได้เจอกันแล้วสุดท้ายก็ต้องพรากจากกัน อารมณ์ที่แสดงออกมาสะท้อนถึงความเศร้าแต่สวยงาม ทั้งหมดทั้งมวลมันก็เป็นเสน่ห์และความน่าสนใจของเรื่องนี้ครับ
ประวัติย่อผู้กำกับ เจนไวยย์ ทองดีนอก (GENWAII THONGDENOK)
เกิด - อังคาร 25 กุมภาพันธ์ 2518 ปีเถาะ
การศึกษา
- ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ จ.สกลนคร
- มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแม่พระฟาติมา กรุงเทพฯ
- มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี
- ปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กิจกรรม
- ประธานคณะกรรมการคณะวารสารศาตร์และสื่อสารมวลชน
- ประธานชุมนุมถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้กำกับละครประจำปีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
เกียรติประวัติ
- ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “มี” ชนะรางวัลขุนวิจิตรมาตรา งานประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย
- ภาพยนตร์สารคดี “เพื่อนตาย” ชนะรางวัลรชฏเสมอ จากงานมหกรรมภาพยนตร์กรุงเทพฯ Bangkok Film Festival
ประวัติการทำงาน
- ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท รถไฟดนตรี จำกัด
- ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
- ผู้ช่วยกำกับฯละครโทรทัศน์
- ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์โฆษณา
- ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์
- อาจารย์มหาวิทยาลัย สาขาภาพยนตร์
- ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง Production Supervisor บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด และกำกับภาพยนตร์ “ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องแรก