ความคืบหน้าการจัดงานสัมมนาเวทีสาธารณะ “ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย: เสียงจากประชาชน”

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 2008 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--พีเพิลมีเดีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2551 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนาเวทีสาธารณะ “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย: เสียงจากประชาชน” ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจกว่า 700 คนเข้าร่วมงานสัมมนา เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเจรจาเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบดังกล่าว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกหรือเข้าไปลงทุนในอินเดีย และตัวแทนภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การเสนอมาตรการรองรับผลกระทบที่เหมาะสม และปรับปรุงนโยบายการเปิดเสรีการค้าให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงมากที่สุด งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยชี้แจงให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำความ ตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เพิ่มเติมจากความตกลงไทย-อินเดียที่มีอยู่ เนื่องจากในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียหรือคิดเป็นมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับเป็นตลาดส่งออกเพียงอันดับที่ 14 ของอาเซียน ทำให้ยังมีช่องว่างสำหรับไทยในการขยายตลาดส่งออกอยู่มาก ซึ่งท่านรองอธิบดีเชื่อว่า หลังความตกลงอาเซียน-อินเดียมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียและประเทศอื่นๆในเอเชียใต้ขยายตัวอย่างชัดเจน เสมือนกับครั้งที่ไทยลงนามความตกลงทวิภาคีกับอินเดียเพื่อเปิดเสรีการค้าใน 82 รายการ ไทยกลับมาเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าในปี 2550 คิดเป็นมูลค่า 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2549 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวมากถึงร้อยละ 80 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าความตกลงอื่นๆ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าความตกลงอาเซียน-อินเดียจะเปิดประตูสู่อินเดียและเอเชียใต้ โดยทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจักดำเนินการเปิดเสรีการค้ากับอินเดียในกรอบอื่นๆ เช่น กรอบ BIMSTEC ต่อไป หลังจากนั้น ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อาเซียน-อินเดีย: สู่อนาคตแห่งอดีตกาล” โดยกล่าวย้ำถึงสายสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมานับพันปี ตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน (Funan) อารยธรรมในประเทศไทยในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นหริภุญชัย ขอมโบราณ อยุธยา หรือศรีวิชัยล้วนมีรากฐานทางวัฒนธรรมและการเมืองการปกครองมาจากอินเดีย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในอาเซียนยกเว้นฟิลิปปินส์ ล้วนเป็นรัฐ “ภารตะภิวัตน์” (Indianized States) ทั้งสิ้น แต่ในภายหลัง อุษาคเนย์กลับถูกรุกรานด้วยชนชาติอื่นๆและนำไปสู่ยุคอาณานิคม บางประเทศ เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่เมืองท่ามะละกาตกเป็นของโปรตุเกส อิทธิพลของอินเดียจึงเสื่อมถอยลงตามลำดับ แต่หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจปิด (Closed Economy) อยู่ระยะหนึ่งแล้ว อินเดียประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินและได้เปิดเสรีการค้าการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการค้าการลงทุนระหว่างอินเดียกับอาเซียน จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ไทยได้ร่วมลงนามความตกลงอาเซียน-อินเดีย เพราะดร. ณรงค์ชัยเชื่อว่าการค้าระหว่างไทยกับคู่ภาคี มีการเกื้อหนุนกัน (Complimentarity) มากกว่าการทดแทนกัน ต่อจากนั้น ในช่วงสภากาแฟ “กรองสถานการณ์: การบ้านหลังการเจรจา” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดของความตกลงเพิ่มเติมว่า ความตกลงดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 กรอบที่ไทยเจรจากับอินเดีย ซึ่งฝ่ายหลังแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะหากพิจารณาจากสถิติการค้าเพียงลำพัง จะพบว่าอินเดียเสียเปรียบไทยและอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด แต่อินเดียต้องการรักษาไว้ซึ่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในเอเชียอาคเนย์ จึงจำเป็นต้องลงนามความตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คุณสาธิต เซกัล ประธานสมาคมนักธุรกิจอินเดีย-ไทยตัดพ้อว่า น่าเสียดายที่อินเดียยังไม่ต้องการบรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับไทย เพราะจะสร้างแต้มต่อให้กับไทยมาก เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าแต่ราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป จึงไม่เหมาะสมที่จะบรรลุเป็นรายการอ่อนไหว ในทางตรงข้าม ภายใต้ความตกลงอาเซียน-อินเดีย ไทยจะต้องเผชิญคู่แข่งภายในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของอินเดียในอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีชาวอินเดียอาศัยอยู่ในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ดร. สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียน เห็นด้วยกับวิทยากรท่านอื่น โดยเชื่อว่าการเปิดเสรีการค้ากับอินเดียส่งผลดีในภาพรวม และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจส่งออกไปอินเดียแม้ว่าสินค้าที่ผลิตจะไม่ได้อยู่ใน 82 รายการก็ตาม เพราะในอดีต คนไทยมักคิดว่าอินเดียเป็นสังคมด้อยพัฒนาที่ติดต่อธุรกิจลำบาก ถึงกระนั้นก็ตาม ในมุมมองของน.สพ.บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานคณะกรรมการเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียและอาเซียน-อินเดีย ไทยอาจได้รับผลกระทบเชิงลบในสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ภาคประมงและปศุสัตว์ เพราะเสียเปรียบด้านต้นทุน แต่ได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิต ในทางกลับกัน สินค้าที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ ข้าว ผัก และผลไม้ เพราะชาวอินเดียครึ่งหนึ่งรับประทานอาหารมังสวิรัติ คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวเสริมว่าภาครัฐจะต้องมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบไม่เพียงแต่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ในทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะหากมีการเปิดเสรีภาคการลงทุนกับอินเดียเมื่อใด ประเทศดังกล่าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับต้นๆ อาจย้ายฐานการผลิตเหล็กหรือซีเมนต์มายังประเทศไทย ตามที่มีข่าวว่าบริษัทของอินเดียสนใจตั้งโรงถลุงเหล็กในไทย ดังนั้น คณะเจรจาจะต้องทำ “การบ้าน” ในประเด็นดังกล่าวด้วยว่าจะรับผิดชอบต่อความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาได้อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อชี้ช่องทางการค้าการลงทุนแก่นักธุรกิจไทย รวมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพรายสินค้า จึงได้เชิญผู้ประกอบการ 4 ท่านที่มีประสบการณ์ในอินเดียเข้าร่วมเวทีเสวนา “รู้ลึกแล้วรุกล้ำ: สำรวจขุนการค้าแดน ภารตะ” โดยคุณเปรม ปิยะสัจจะเดช คณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า อินเดียเป็นประเทศที่น่าลงทุนมาก และจะนำอะไรไปขายก็ได้ เพราะมีผู้บริโภคนับพันล้านคนที่มีความต้องการอันหลากหลาย และรู้สึกเป็นมิตรกับ “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับเคล็ดลับทำธุรกิจ คือต้องศึกษาอุปนิสัยและทำการบ้านให้ดี เพราะหากมองแค่ผิวเผิน จะพบว่าอินเดียยังเป็นประเทศยากจน สาธารณูปโภคอาจไม่รองรับ แต่หากรู้จักคบค้าสมาคมกับชาวอินเดีย ก็จะพบว่ามีโอกาสทางการค้าสูงมาก เช่นเดียวกับคุณวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับที่ระบุว่าคนอินเดียมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย แต่การทำธุรกิจในอินเดียนั้นไม่ง่าย อย่างแรกต้องหาหุ้นส่วนที่เป็นคนท้องถิ่น (Local Partner) ช่วยทำการตลาด แม้แต่ในอุตสาหกรรมอัญมณี ซึ่งอินเดียผลิตได้เป็นมูลค่าและปริมาณร้อยละ 50 และ 90 ของโลกตามลำดับ ตนก็เชื่อมั่นว่าไทยสามารถรุกตลาดอินเดียได้ โดยปี 2551 นี้คาดว่าจะส่งออกได้ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังขาดดุลอินเดียอยู่ ในส่วนของการลงทุน ดร. ณัฐวุฒิ อุทัยเสน รองประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวสนับสนุนคุณเปรมว่า อินเดียมีพื้นที่ใหญ่กว่าไทย 6 เท่า และประชากรมากกว่า20 เท่า แต่ด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลายและภาษาราชการ 15 ภาษา กอปรกับรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละ 28 รัฐและ 7 เขตการปกครองพิเศษมีนโยบายการค้าการลงทุนและอัตราภาษีที่แตกต่างกัน นักลงทุนไทยจึงควรศึกษากฎระเบียบ โครงสร้างภาษี วัฒธรรมและประเพณีของอินเดียให้ดี เพราะแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกันเลย อย่างไรก็ดี ชาวอินเดียมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) สูง สอดคล้องกับความเห็นของคุณเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัดว่า ผู้ประกอบการที่ใช้พาณิชย์เชิงอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) จะประสบความสำเร็จในตลาดอินเดีย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ นายอาทิตย์ ประภาสะวัต (ปอนด์) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด โทร. 086-408-5548 ,0-2704-7958 ต่อ 207

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ