กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมโรงงานอุตสาหกรรม
อีก 5 เดือน กฎกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการตรวจสอบกลิ่นจากโรงงานด้วยการ “ดม” จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากญี่ปุ่น) ที่นำวิธีการดังกล่าวมาใช้ ซึ่งขณะนี้ทางกรมโรงงานกำลังอบรม “นักดมกลิ่น” เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ ระหว่างโรงงานกับผู้อยู่อาศัยรอบข้าง ซึ่งมีจำนวนการร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถยุติลงได้
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่มีกฎหมายรองรับการควบคุมโรงงานต่าง ๆ ด้วยสิ่งที่มีชื่อว่า “จมูก”
นายอิสสระ โชติบุรการ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งน้ำเสีย ขยะ อากาศ หรือเรื่องอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่มีมาตรฐานหรือค่าปริมาณตัวเลขที่กำหนดไว้บังคับให้ปฏิบัติตามอย่างชัดเจน แต่เรื่องของกลิ่น โดยเฉพาะกลิ่นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ (เช่น กลิ่นจากอุตสาหกรรมอาหาร จากอุตสาหกรรมฟอกย้อม) เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่ยากจะกำหนดเป็นตัวเลขว่า กลิ่นระดับไหนที่จะสร้างปัญหา
นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง “กำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พุทธศักราช 2548” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน ปีนี้ ซึ่งภายใต้กฎกระทรวงดังกล่าวน่าจะทำให้ปัญหาเรื่องกลิ่นจากโรงงานที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง สามารถมีทางออกได้ด้วย “จมูก” ของ “นักดมกลิ่ม” (ที่ผ่านการอบรมแล้ว)
การที่จะระบุว่าอากาศ ณ สถานที่นั้น ๆ มี “กลิ่น” ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนรอบข้างหรือไม่นั้น จะถูกตัดสินจากการดมกลิ่นด้วยจมูกของคน 6 คน ที่จะต้องดมกลิ่นที่ถูกเจือจางด้วยความเข้มข้นจากน้อยที่สุดและเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ (หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือลดสัดส่วนการเจือจางลงเรื่อย ๆ) เพื่อระบุว่าความเข้มข้นที่เริ่มได้กลิ่นนั้นเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยค่านี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะที่ตั้งของโรงงาน เช่น หากเป็นกลิ่นที่เก็บจากรั้วโรงงานในเขตอุตสาหกรรม ผู้ทดสอบต้องระบุว่าเริ่มได้กลิ่นจากตัวอย่างที่มีการเจือจาง 30 เท่าขึ้นไป จึงจะถือว่าโรงงานนั้นทำผิดกฎหมาย แต่หากเป็นกลิ่นที่เก็บจากรั้วโรงงานที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรมนั้น เพียงผู้ทดสอบต้องระบุว่าเริ่มได้กลิ่นจากตัวอย่างที่การเจือจางที่ 15 เท่าขึ้นไป ก็สามารถเอาผิดกับโรงงานได้แล้ว
แต่เนื่องจากการ “ตรวจกลิ่นด้วยจมูก” สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทย เป็นวิธีการที่จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ประเทศแรกคือญี่ปุ่น) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคที่จำเป็นให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคลากรของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น “การอบรมการเก็บตัวอย่างกลิ่นและตรวจวัดกลิ่นโดยการดม (Sensory Test)” ที่จะจัดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้งในช่วงนี้ จึงเป็นความพยายามของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของกรมโรงงานและเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดกว่า 200 สามารถนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติได้
“ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องผลักดันเรื่องนี้ เพราะเราพบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา กรณีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงานที่กรมโรงงานได้รับการร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือเรื่องของปัญหากลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ในกรณีที่มีความขัดแย้งในเรื่องนี้เกิดขึ้นและไม่สามารถหาข้อสรุปที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ การที่เราทำให้วิธีการตรวจกลิ่นแบบเกิดผลในเชิงกฎหมาย ก็จะทำให้เรามีวิธีการที่จะสามารถใช้จัดการปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกรมโรงงานจะใช้วิธีการนี้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ต้องการข้อตัดสินเชิงกฎหมาย และไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้แล้วเท่านั้น” อธิบดีกรมโรงงานฯกล่าวสรุป
สำหรับประชาชนทั่วไป ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สามารถร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือเหตุเดือดร้อนรำคาญจากโรงงานอุตสาหกรรม ไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทาง “สายตรงรับเรื่องร้องเรียน” โทร. 0-2354-3300 หรือที่ตู้ ปณ.21 ปณจ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ 10200 หรือ เว็ปบอร์ดของกรมโรงงานที่ www.diw.go.th และหากมีแจ้งดำเนินคดีและศาลสั่งปรับโรงงานดังกล่าว ผู้แจ้งเบาะแส จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าปรับเป็นเงินถึง 25 เปอร์เซ็นต์ (ค่าปรับสูงสุด 2 แสนบาท)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม--จบ--