โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ระยะที่ 2 มุ่งขยายผลสำเร็จจากระยะที่ 1 และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2008 08:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--GTZ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) องค์กรที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจ ครั้งที่ 4 ขึ้น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลา 4 ปี (2548 - 2551) เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ในอุตสาหกรรมการเกษตร 5 สาขา ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ผักและผลไม้ กระดาษสา และมันสำปะหลัง และกลยุทธ์สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในปี 2552 นี้ และจะสิ้นสุดในปีพศ. 2555 มร. เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ ในการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 GTZ จะยังคงพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมทั้ง 5 สาขาดังกล่าว และจะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เป้าหมายสำคัญ คือ การขยายผลสำเร็จที่ได้จากการดำเนินงานในระยะแรกไปสู่วงกว้างมากขึ้น โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ 1) พัฒนาและขยายบริการต่างๆ ไปสู่ผู้ประกอบการและเกษตรกรรายอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด 2) ผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 5 สาขาที่โครงการฯ ดำเนินการอยู่ และสร้างความแข็งแกร่งให้สมาคมองค์กรธุรกิจต่างๆ 3) วิเคราะห์หาจุดด้อยในห่วงโซ่มูลค่าตลอดขั้นตอนการผลิตเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และ 4) เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยมาตรฐานการรับรองคุณภาพ เพื่อให้เข้าถึงตลาดในต่างประเทศ การแนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ การให้บริการเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทดแทน การดำเนินโครงการในระยะที่ 2 นี้ ยังสานต่อโครงการความร่วมมือไตรภาคีระหว่างประเทศเยอรมนี ไทยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาใกล้เคียงอีกด้วย ” การดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไทยในระยะแรกที่ผ่านมานั้นประกอบด้วย 1) บริการด้านธุรกิจและการเงิน 2) บริการด้านประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ การให้บริการ 2 ทั้งส่วนนี้ได้มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการ การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ ได้ดังนี้ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ชาวสวนปาล์มรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมจำนวน 2,363 ราย สามารถเพิ่มปริมาณผลปาล์มได้ร้อยละ 10 หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 44 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้กิจกรรมการวิเคราะห์ดินและใบปาล์มเพื่อหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมก็ช่วยเพิ่มผลผลิตปาล์มได้ร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในส่วนของการผลิตน้ำมันปาล์มนั้น โรงงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 16 แห่ง สามารถลดการสูญเสียรายได้ถึง 753 ล้านบาท จากปริมาณการสูญเสียน้ำมันที่ลดลงในขั้นตอนการผลิต และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ได้จากก๊าซชีวภาพอีก 51 ล้านบาท อุตสาหกรรมกุ้ง ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องวิเคราะห์สภาพและปรับปรุงดิน พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่วนโครงการนำร่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น สามารถประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 15 นอกจากนี้การส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์และพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกนั้น ก็ได้รับยอดการสั่งซื้อกุ้งอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจากฟาร์มกุ้งที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 750,000 ยูโร (ประมาณ 16,665 ล้านบาท) ในปี 2552 นี้ คาดว่ายอดสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมตริกตัน อุตสาหกรรมผักและผลไม้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของไทย มาตรฐานการรับรองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ดังนั้นจึงได้มีการดำเนินงานเพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อย 50 ราย ผ่านการรับรอง GlobalGAP Option 2 ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และมียอดการสั่งซื้อที่แน่นอนในแต่ละปี โครงการยังได้ให้บริการคำแนะนำในการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมแก่สวนส้ม 1,200 แห่ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 6 และให้บริการการจัดการสวนแก่ชาวสวนลำไย ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตลำไยเกรด AA และเกรด A ได้ร้อยละ 46 ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 17 อีกด้วย ส่วนการแนะนำเทคโนโลยีการอบแห้งแบบใหม่นั้น ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช่จ่ายด้านพลังงานลงได้ร้อยละ 19 อุตสาหกรรมกระดาษสา การดำเนินโครงการกระดาษสาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 6.4 จากการใช้สารเคมี น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (โดยผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีลงได้สูงสุดร้อยละ 20 และลดการใช้น้ำลงได้ร้อยละ 10 ผู้ประกอบการบางรายสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ถึงร้อยละ 40) นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดการใช้โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดน้ำเสีย แทนการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ ในมาตรฐานในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนผลทางธุรกิจนั้น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.87 เป็นร้อยละ 33.37 โครงการฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการปรับปรุงคุณภาพของปอสา ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษสา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้ว เกษตรกรชาวลาวก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังภายใต้โครงการนำร่อง 6 แห่งที่ทำการปรับปรุงการใช้พลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการเข้าร่วมกิจกรรม benchmarking และการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศนั้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้รวม 76 ล้านบาทต่อเดือน จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้โรงงานอีก 6 แห่งสนใจนำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้สนับสนุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังแบบยั่งยืนเพื่อผลิตเอทานอล GTZ เป็นสำนักงานของรัฐบาลเยอรมันในรูปแบบบริษัทที่ไม่หวังผลกำไร โดยดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GTZ ปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรปธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ในภาพ (จากซ้าย) มร.เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) นางเสาวนีย์ วรพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพัฒนาการเกษตรชนบท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ฮันส์ ไฮน์ริช ชูมัคเคอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำกรุงเทพฯ นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และดร.อนันต์ สุวรรณปาล รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจ ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เมืองพัทยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 13 โทรสาร 02 661 9281 อีเมล์ siriporn.treepornpairat@gtz.de

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ