กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--โรงพยาบาลพญาไท
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้มะเร็งกลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จากทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปี พ.ศ.2533 มีผู้ป่วยใหม่โรคนี้ จำนวน 2,507 รายแต่ในปี พ.ศ.2542 พบเพิ่มเป็น 4,883 ราย และคาดว่าในปี พ.ศ.2551 จะสูงถึง 8,381 ราย โดยตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ก็พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับสามของคนไทย
พล.ต. ร.ศ. นพ. ปริญญา ทวีชัยการ ประธานชมรมศัลแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แพทย์หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินอาหาร เคริอ รพ พญาไท กล่าวว่า ความจริงแล้วมะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันได้และรักษาให้หายขาดได้หากมีการตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ แต่เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกมาให้พบเห็นอย่างชัดเจน ต่อมาเมื่อมีอาการ โรคมักจะลุกลามไปแล้ว ทำให้การรักษาให้หายขาดไม่สามารถทำได้ทุกราย โรคนี้จึงประดุจดัง ”เพรฌฆาตเงียบ” ที่คร่าชีวิตคนไทยสูงขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ดี นพ. ปริญญา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ก็อย่าท้อแท้ หมดหวัง เพราะเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันได้พัฒนาไปมาก ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาดที่เรียกว่า ‘Curative resection’ ส่วนการผ่าตัดมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง (rectum) นั้นจะใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบ ‘Total mesorectal excision’ (TME) ซึ่งจะตัดเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกหมดแบบถอนราก ถอนโคน ที่ให้ผลการผ่าตัดรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้ ซึ่งผลการผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ ถ้าผู้ป่วยมีมะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจพิจารณาให้ เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัดเพื่อเสริมผลการผ่าตัดรักษาและโอกาสการหายขาดให้ดีขึ้น และลดโอกาสการเกิดมะเร็งซ้ำใหม่
อย่างไรก็ดี การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุดคือเป็นการตรวจพบให้เร็วที่สุดตั้งแต่ระยะก่อนเป็นหรือระยะแรก ซึ่งถือเป็นการป้องกันในเชิงรุก และทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยอาการแรกๆของมะเร็งลำไส้จะมีเพียง การมีเลือดออกทางทวารหนัก อุจจาระลำเล็กลง อาการท้องผูกสลับท้องเสีย อาการปวดเบ่งบริเวณทวารหนักหรือ อาการของลำไส้อุดตัน อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากพบอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีหลักๆ คือ 1) การตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้กล้องส่อง( Colonoscopy ) แพทย์จะส่องกล้องเข้าตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ โดยติ่งเนื้อหรือเนื้องอก (polyp) ที่ตรวจพบอาจไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็ง เมื่อส่องกล้องไปพบเนื้องอกธรรมดาหรือติ่งเนื้อ (polyp) แพทย์จะสามารถทำการตัดออกโดยกล้องได้ทันทีซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เนื้องอกกลายเป็นมะเร็งในอนาคตที่ได้ผลดีที่สุด คนไข้แทบจะไม่เจ็บปวดเลยเมื่อตัดเสร็จ นอนพัก 6 ชม.ก็สามารถขับรถกลับบ้านได้เองทันที นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งของการตรวจมะเร็งลำไส้สามารถทำ CT-Colonography โดยเครื่อง CT-Scan 64 Slices ซึ่งสามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ให้เป็นภาพเสมือนจริง และมีประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจได้รวดเร็วภายในเวลาเพียง 15-20 นาที และสามารถดูความผิดปกติของผนังลำไส้ใหญ่ด้านนอกได้อีกด้วย ซึ่งให้ความแม่นยำสูงเช่นกัน
สุดท้ายคือการดูแลตัวเองเพื่อให้ชีวิตมีภูมิต้านทานแบบง่ายๆคือ การออกกำลังกาย ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่มีกากอาหารหรือไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ หรือคอร์นเฟล็ก รวมถึงการตรวจร่างกายเป็นประจำเมื่ออายุ 30 ปี และมะเร็งลำไส้เมื่ออายุ 50 ปี เพื่อหากตรวจพบแล้วจะทำการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือมะเร็งลำไส้ใหญ่
Fact Sheet
สถิติ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีอุบัติการณ์สูงขึ้นทุกๆปี จากทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปี พ.ศ.2533 มีผู้ป่วยใหม่โรคนี้ จำนวน 2,507 รายแต่ในปี พ.ศ.2542 พบเพิ่มเป็น 4,883 ราย และคาดว่าในปี พ.ศ.2551 จะสูงถึง 8,381 ราย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ International Agency for Research and Cancer ที่รายงานในปี พ.ศ.2543 ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในทวีปเอเชีย มีแนวโน้มสูงขึ้น และพบมากเป็นอันดับสามของมะเร็งทั้งหมดในเอเชีย และในประเทศไทยก็พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับสามของคนไทย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) มีลักษณะเป็นท่อยาวนิ่มๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11.3 ม.ม. โดยแพทย์จะใส่กล้องดังกล่าวเข้าทางทวารผู้ป่วย ขึ้นไปตามลำไส้ใหญ่ยาวประมาณ 1.50 เมตร การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่นี้ อาจทำให้ผู้ป่วยท้องอึดอัดได้ ดังนั้นอาจทำขณะผู้ป่วยตื่นรู้ตัวปกติหรือทำในขณะผู้ป่วยหลับ โดยฉีดยานอนหลับก็ได้ ใช้เวลาในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 15-30 นาที เมื่อสิ้นสุดการส่องกล้องตรวจ ผู้ป่วยอาจแน่นท้องเป็นเวลาสั้นๆ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ฉีดยานอนหลับก็จะตื่นเมื่อสิ้นสุดการส่องกล้อง นอนพัก 1-2 ชั่วโมง จะกลับบ้านได้
การตรวจลำไส้ใหญ่โดยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Colonography) ซึ่งสามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ให้เป็นภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ ทำให้ดูผิวภายในของลำไส้ใหญ่ได้คล้ายกับการส่องกล้อง ( Conventional Colonoscopy ) และมีประสิทธิภาพสูง สามารถค้นหาติ่งเนื้อขนาด 6-8 มม.ได้ถึง 85-90 %และขนาด 8 มม. ขึ้นไปถึง 95-100% ซึ่งติ่งเนื้อเหล่านี้ถ้าทิ้งนานไป อาจเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ได้ และวิธีการตรวจนี้ยังสามารถใช้เสริมการตรวจโดยวิธีส่องกล้องในการดูมะเร็งสำไส้ใหญ่ระยะต่าง ๆ ซึ่งมีลำไส้อุดตัน และไม่สามารถผ่านกล้องเข้าไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถดูผนังด้านนอกของลำไส้ใหญ่ และอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งไม่สามารถเห็นด้วยการส่องกล้องได้ด้วย
การผ่าตัดรักษา เทคนิคการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้พัฒนาไปอย่างมาก โดยเป็นการผ่าตัดที่เรียกว่า Curative resection เพื่อหวังผลหายขาดจะเป็นการตัดเอาลำไส้ใหญ่ที่เป็นมะเร็งออกไปยาวตั้งแต่ 10 ซม.ขึ้นไป ตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็งจากต้นขั้ว และเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่คาดว่ามะเร็งจะกระจายออกให้มากที่สุด โดยมาตราฐานการผ่าตัดแล้วต้องตัดต่อมน้ำเหลืองออกไม่น้อยกว่า 12 ต่อมขึ้นไป ส่วนการผ่าตัดมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วน rectum (ลำไส้ตรง) นั้นจะใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบ total mesorectal excision (TME) ซึ่งจะตัดเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกหมดให้ผลการผ่าตัดรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้
การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy ถ้าผู้ป่วยมีมะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจพิจารณาให้ เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัดเพื่อเสริมผลการผ่าตัดรักษาและโอกาสการหายขาดให้ดีขึ้น และลดโอกาสการเกิดมะเร็งซ้ำใหม่ แต่ถ้ามะเร็งลุกลามจนผ่าตัดไม่ได้ก็จะพิจรณาให้เคมีบำบัดเพื่อให้มะเร็งมีขนาดเล็กลงจนผ่าตัดได้หรือเพื่อยืดเวลาให้แก่ผู้ป่วยต่อไป เช่น เมื่อมะเร็งกระจายไปที่ตับ ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด สร้างความสะดวกแก่ผู้ป่วยอย่างมาก ในปัจจุบันมีการค้นพบยาเคมีบำบัดของมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดใหม่ ที่ให้ผลการรักษาดีกว่าเดิมมาก เรียกว่า ‘Targeted Therapy’ โดยยาจะวิ่งไปจับกับเป้าหมาย (target) ซึ่งคือมะเร็งเท่านั้น โดยไม่ทำลายอวัยวะข้างเคียงเฉกเช่นการให้เคมีบำบัดในอดีต โดยมีผลข้างเคียงน้อยและผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารเครือ รพ. พญาไท ได้ให้บริการตรวจและรักษาโรคทางเดินอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างครบวงจร ด้วยทีมอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ที่เป็นระดับชั้นนำของประเทศที่มีประสบการณ์ทางด้านระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือการตรวจรักษาที่ทันสมัย สามารถวินิจฉัยอาการของโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งให้คำปรึกษาหลังการตรวจรักษาเพื่อการป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกเพราะโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารสามารถเกิดได้อีกหากปฎิบัติตัวไม่ถูกต้อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณแคทรียา ทาแก้ว ประชาสัมพันธ์ โทร 081 7330083