กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบผันผวนอย่างมากโดยมีราคาที่ปรับตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ผู้ประกอบการต่างมองแนวโน้มราคาในอนาคตว่าจะสูงขึ้นอีก และนำไปสู่การวางแผนสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าในช่วงราคาขึ้น แต่เหตุการณ์กลับตรงข้าม ราคาวัตถุดิบลดลง เพราะเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความต้องการวัตถุดิบทั่วโลกลดลง ราคาวัตถุดิบอ่อนตัวลงทันที ทำให้ทุกบริษัทที่สั่งซื้อและสินค้าเริ่มส่งเข้ามาในช่วงเดือนถัดมาต้องแบกภาระต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูง ประกอบกับภาวะการค้าโลกลดลง ปริมาณการบริโภค การสั่งซื้อลดลง ทำให้การเลี้ยงสัตว์ลดลง การระบายสต็อกสินค้าวัตถุดิบที่มีราคาสูงเหล่านี้ลดลงช้ามาก การสั่งซื้อวัตถุดิบล็อตใหม่ก็ช้าลง ส่งผลกระทบไปทั่ววงการวัตถุดิบอาหารสัตว์
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ก็ได้ให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน พิจารณาลดราคาอาหารสัตว์เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 ลดในอัตราร้อยละ 5 ทั้งอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ ครั้งที่ 2 กลางเดือนธันวาคม 2551 ลดในอัตราร้อยละ 5 สำหรับ อาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์บก และ ร้อยละ 8 สำหรับ หัวอาหารสำหรับสัตว์บก
“ธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์จะได้รับประโยชน์อย่างมาก จากการแข่งขันการบริการและราคาที่เหมาะสม และผู้ผลิตอาหารสัตว์ทุกบริษัทต่างมีความปรารถนาดีที่จะให้ผู้เลี้ยงสัตว์ได้รับอาหารคุณภาพเพื่อการเลี้ยงสัตว์ แต่ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการขายสินค้าได้ไม่คุ้มต้นทุน จึงมีการร้องเรียนมายังสมาคมฯกันมาก ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจเพื่อช่วยกันประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปให้ได้” นายพรศิลป์กล่าวและว่า
ภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์และผู้เกี่ยวข้องภาคปศุสัตว์ว่า สินค้าหมวดอาหารยังมีความจำเป็นและยังมีอนาคตที่ดี และต้องช่วยกันผลักดันให้ทุกประเทศทั่วโลกมั่นใจในสินค้าปศุสัตว์ของไทยซึ่งจะเป็นการช่วยกันสร้างตลาดเนื้อสัตว์ของไทย และจะส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยอยู่ได้