กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ก.ล.ต.
เพื่อป้องกันมิให้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นช่องทางในการฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือเป็นทางผ่านเงินเพื่อสนับสนุนผู้ก่อการร้าย รวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (Report on the Observance of Standards and Codes : ROSCs) ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating of Financing of Terrorism : AML/CFT) โดย IMF และ World Bank ในช่วงต้นปี 2550
ก.ล.ต. จึงเห็นควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ (รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) โดยยึดแนวทางตามมาตรฐานสากลและได้รับความร่วมมือจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเป็นผู้กำหนดวิธีปฏิบัติ ซึ่งสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่
(1) บริษัทหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า (client due diligence : CDD) รวมถึงบุคคลที่ได้รับประโยชน์ และบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรม
(2) จัดกลุ่มลูกค้าตามระดับความเสี่ยงในการเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนการก่อการร้าย
(3) สอบยันข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้ากับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
(4) ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลูกค้าเปิดบัญชีจนกระทั่งยุติการทำธุรกรรมกับบริษัทหรือปิดบัญชี และจะต้องมีการจดบันทึกและจัดเก็บข้อมูลไว้ให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องให้ความสำคัญด้านความพร้อมของบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในส่วนนี้ด้วย เช่น กำหนดวิธีปฏิบัติงาน จัดอบรมพนักงาน จัดให้มีพนักงานด้าน AML/CFT โดยเฉพาะ ในการนี้ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต. จึงได้จัดทำและเผยแพร่เอกสารหลักการและเหตุผล พร้อมทั้งแบบแสดงความเห็นเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ร่วมแสดงความคิดเห็นใน www.sec.or.th ทั้งนี้ ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ซึ่ง ก.ล.ต. จะรวบรวมและพิจารณานำมาใช้ประกอบการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป