กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สามารถคอร์ปอเรชั่น
“กลุ่มบริษัทสามารถ” ยกระดับมาตรฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI ระดับ 3 จาก บริษัท CyberQ Consulting ซึ่งมีบริษัทTUV Nord ประเทศไทย จำกัด เป็นที่ปรึกษา โดยบริษัทในเครือที่ได้รับการรับรอง มีจำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น, บมจ.สามารถเทลคอม, บจก.สามารถคอมเทค, บจก.วันทูวัน คอนแทคส์ และ บจก.สมาร์ทเทอร์แวร์ ความสำเร็จครั้งนี้เป็นการแสดงถึงการมีระบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล และยังตอกย้ำความเป็นผู้นำการให้บริการเทคโนโลยีครบวงจรอย่างแท้จริง
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การได้รับมาตรฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ CMMI Maturity ระดับ 3 (Capability Maturity Model Integration) จาก บริษัท CyberQ Consulting (ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจาก SEI , Carnegy Mellon University, USAผู้กำหนดมาตรฐาน CMMI ) ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง ที่ช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับ “กลุ่มบริษัทสามารถ” ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานด้านระบบการทำงานและการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล ภายหลังจากประสบความสำเร็จจากการเป็นบริษัทโทรคมนาคมไทยรายแรกที่ได้รับมาตรฐานทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ หรือ ISO 27001
โดยบริษัทในเครือที่ได้รับการรับรองครั้งนี้ มีจำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด, บริษัท วันทูวันคอนแทคส์ จำกัด, และ บริษัท สมาร์ทเทอร์แวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นด้านการพัฒนาระบบงานและซอฟต์แวร์ การนำ CMMI มาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อบริษัท ทั้งด้านระบบภายใน ก็คือช่วยให้บริษัทมีกระบวนการทำงานเป็นระบบมากขึ้น มีการตรวจสอบได้ง่ายและสมบูรณ์ ลดการทำงานซ้ำซ้อน และประมาณการได้แม่นยำมากขึ้น สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจให้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงด้านระบบภายนอก ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่น ที่สามารถเห็นผลได้ชัดเจนกับความพึงพอใจและยอมรับจากลูกค้า ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ซึ่งลูกค้าจะมั่นใจได้ว่าบริษัทสามารถจะส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าทุกราย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการรับงานจากลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย
นายเจริญรัฐ ยังกล่าวถึงการต่อยอดจากความสำเร็จครั้งนี้อีกว่า “ส่วนหนึ่งของความสำเร็จครั้งนี้ มาจากความเป็นมืออาชีพ และทุ่มเทให้กับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในกลุ่มบริษัทสามารถ ของทีมงานไอที โดยทีมงาน SEPG (Software Engineering Process Group) ภายในระยะเวลากว่า 15 เดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างรายได้และทำกำไรจากการพัฒนาระบบงานในอนาคต”
นอกจากนี้ นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนในส่วนของภาครัฐว่า “เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยเรามีบริษัทผ่านการประเมินผ่าน CMMI ทั้งสิ้น 6 บริษัท แต่ปีนี้มีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI รวมทั้งสิ้น 21 บริษัท เห็นได้ว่ามีจำนวนเพิ่มเกือบ 4 เท่าตัวภายใน 1 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ และความตั้งใจจริงของบริษัทซอฟต์แวร์ไทย ที่ร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง ปัจจุบันประเทศไทยเราจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 21 บริษัทของเรา แบ่งเป็นเป็น CMMI Level 2 — 9 ราย, Level 3 — 11 ราย และ Level 5 — 1 ราย เป็นรองจากมาเลเซีย ซึ่งครองอันดับ 1 คือมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI แล้วกว่า 50 ราย และฟิลิปปินส์ จัดอยู่ในอันดับ 2 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ราย คาดว่าภายในต้นปีหน้าเราจะสามารถแซงหน้าขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทนฟิลิปปินส์ และภายในปี 52 นี้เราจะมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท”
นางสุวิภากล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า “การได้รับการรับรอง CMMI ของกลุ่มบริษัทสามารถครั้งนี้ ถือเป็นบริษัทแรกที่ผ่านการประเมินแบบกรุ๊ป ภายในระยะเวลาอันสั้น คือ ใช้เวลาแค่ 15 เดือน จากปกติ 18 เดือน ซึ่งต้องชื่นชมความสามารถของตัวบุคลากร แม้ว่าองค์กรจะมีกระบวนการที่ดี แต่หากขาดบุคลากรที่มีทักษะและความเข้าใจถึงพื้นฐานในด้าน Software Process Improvement และ Software Engineering การพัฒนาต่างๆ ภายในองค์กรย่อมเป็นไปได้ช้าและขาดประสิทธิภาพ”