iTAP หนุน เอกชน สร้างเตาอบ Heat Treatment เพิ่มโอกาสสินค้าเกษตรไทยส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2008 07:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) iTAP (สวทช.) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพัฒนาเตาอบลังไม้ระบบ Heat Treatment เพิ่มประสิทธิภาพผู้ผลิตขิงดองรายใหญ่ของไทย ส่งออกได้ไม่สะดุด ระบุ ช่วยเอกชนลดต้นทุนได้กว่า 3 ล้านบาท และเพิ่มความมั่นใจพาเลตไม้ได้คุณภาพตาม ‘มาตรฐาน IPPC’ ขจัดอุปสรรคการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก “ขิง” เป็นวัตถุดิบจากภาคการเกษตรของไทยที่ส่งออกตลาดญี่ปุ่นสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละหลายร้อยล้านบาท โดยเฉพาะญี่ปุ่นถือเป็นตลาดรายใหญ่ของไทย เพราะการรับประทานขิงดองถือเป็นวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่น แต่เนื่องจากญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดทำให้การเพาะปลูกขิงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าขิงดองจากต่างประเทศ 100% โดยมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุด แต่อุปสรรคหนึ่งของผู้ส่งออกไทยคือ บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้ หรือ พาเลตไม้ ต้องผ่านมาตรฐาน IPPC จึงจะสามารถนำเข้าได้ ซึ่งแนวทางแก้ไขมีด้วยกัน 2 วิธี คือ วิธีการรมยาด้วยสารเมทิลโบรไมล์ หรือ การอบด้วยความร้อนหรือที่เรียกว่า ‘Heat Treatment’ นายเจริญชัย แย้มแขไข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชวี่ เฉวียน ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตขิงดอง ขิงแปรรูป และมะเขือม่วงดองส่งออกรายใหญ่ของไทยกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทฯ เป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับไต้หวัน เดิมตั้งอยู่ที่ไต้หวันและได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเมื่อปี 2536 ดำเนินธุรกิจผลิตขิงดองกึ่งสำเร็จรูปส่งออกตลาดญี่ปุ่น และในปี 2541 ได้ทดลองผลิตขิงแปรรูปส่งจำหน่ายซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากลูกค้า จากนั้นจึงได้ทำการผลิตมะเขือม่วงดองเพิ่มซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นการผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 100% ไม่มีจำหน่ายในประเทศ จับกลุ่มลูกค้าตลาดบนเป็นหลักเนื่องจากไม่ต้องการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งจากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะจีนที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพนั้นยังสู้ไทยไม่ได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ขิงดองและขิงแปรรูปที่บริษัทผลิตขึ้นได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นได้ 30-35 % ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกหลักของบริษัทถึง 98% ที่เหลือกระจายอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคนญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน อาศัยอยู่ โดยในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทกว่า 200 - 350 ล้านบาท แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้มีประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ห้ามนำเข้าบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ หรือ ลังไม้ ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน IPPC เข้าไปยังประเทศญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของแมลงที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจติดมากับบรรจุภัณฑ์ไม้ ซึ่งอาจเข้าไปสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายต่อด้านการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นได้ จากความเข้มงวดดังกล่าว ทำให้ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก บริษัทจึงได้เข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ “การสร้างเตาอบวัสดุบรรจุภัณฑ์จากไม้เพื่อการ Heat Treatment” สำหรับใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ขิงดองส่องออก โดย iTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทได้สร้างเตาอบดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เตา เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน โดยสามารถอบลังไม้ได้ถึงคราวละประมาณ 1,000 ลัง ผลที่ได้รับจากโครงการฯ นี้ ทำให้บริษัทสามารถใช้เตาอบที่สร้างขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่เคยสั่งซื้อลังไม้ที่อบแล้วจากภายนอกโรงงานลงถึงปีละกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีบริษัทต้องใช้ลังไม้เป็นจำนวนมากนับแสนใบ แต่หลังจากได้สร้างเตาอบขึ้นมาใช้เองภายในโรงงาน นอกจากลดต้นทุนการผลิตลังไม้ลงแล้ว ที่สำคัญยังเพิ่มความมั่นใจในการจัดส่งสินค้า เพราะลังและพาเลตไม้ที่อบได้จากเตาอบที่บริษัทสร้างขึ้นได้รับการรับรองมาตรฐาน IPPC สามารถควบคุมการอบได้หากเกิดปัญหาขึ้นที่ปลายทางก็ตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที สำหรับข้อดีของการอบบรรจุภัณฑ์ไม้ด้วยวิธี Heat Treatment นี้ ถือเป็นวิธีการอบด้วยความร้อนโดยให้อุณหภูมิที่แกนกลางของไม้ได้รับความร้อนไม่น้อยกว่า 56 องศาเซลเซียส อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยในการอบไม้แต่ละครั้งบริษัทจะใช้ระยะเวลาในการอบ 4 - 5 ชม. เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดโดยมีมาตรฐาน IPPC เป็นเครื่องหมายยืนยันในการอบลงบนตัวลังไม้ทุกครั้ง จึงจะสามารถนำเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการของ iTAP เพราะนอกจากที่จะลดต้นทุนเรื่องของบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังทำให้บริษัทมีความมั่นใจในคุณภาพของบรรจุภัณฑ์มากขึ้น” นายเจริญชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้า มีด้วยกัน 2 แบบ นอกจากบรรจุภัณฑ์ไม้ หรือ พาเลตไม้แล้ว ยังมีพาเลตที่ทำจากสแตนเลสแบบน๊อกดาวน์ เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายเทศบาลที่กำหนดว่าหากมีการเผาวัสดุใดๆก็ตามจะคิดค่าเผาตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัมถือว่าแพงมาก ดังนั้น จึงมีการจัดทำลังและพาเลตจากสแตนเลสขึ้นใช้ นิยมกันมากในเมืองใหญ่ เช่น โอซาก้า และ โตเกียว แต่สำหรับเมืองเล็กๆ ยังคงใช้ลังและพาเลตจากไม้เป็นส่วนใหญ่ หากต้องการสอบถามหรือภาพประกอบ เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ...... คุณนก , คุณเกด โทร.0-2270 -1350-54 ต่อ 114 ,115 หรือ มือถือ. 0-81421-8133 และ 0-81575-6477

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ