กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี และลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนกันยายน 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ มีแนวโน้มขยายตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมมาก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการปิดสนามบินซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวในช่วงท้ายปี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ที่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนอกประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2551 ที่คาดว่าจะขาดดุลร้อยละ -1.5 ของ GDP สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) โดยมีปัจจัยลบจากการใช้จ่ายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มอ่อนแอ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงมาก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 ยังคงขาดดุลที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.4 ถึง -0.4 ของ GDP) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2551
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี โดยคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในปี 2551 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 และ 4.3 ต่อปี ตามลำดับ แม้จะเร่งตัวขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ แต่เป็นการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรก และความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคและนักลงทุนชะลอการจับจ่ายใช้สอยและชะลอการตัดสินใจลงทุน สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ชะลอลงมากจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก นอกจากนี้ การปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ทำให้ปริมาณการส่งออกบริการและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี เนื่องจากในช่วง 3 ไตรมาสแรก มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นแทบทุกหมวด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จะชะลอลงตามการใช้จ่ายภายในประเทศ
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมมาก ในขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุลที่ -4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขาดดุลร้อยละ -1.5 ของ GDP เทียบกับปีก่อนที่เกินดุลร้อยละ 5.7 ของ GDP เนื่องจากการขาดดุลการค้าอันเป็นผลมาจากมูลค่าสินค้านำเข้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งถึงร้อยละ 28.6 ต่อปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อปี ในขณะที่ดุลบริการจะขาดดุล เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะลดลงมากจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปี
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2552
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.2-3.2 ต่อปี) เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงมากตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก บวกกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ประคับประคองไม่ให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงไปมาก คือ การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงมากตามราคาน้ำมันและราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลก ในด้านการลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวลดลงจากปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0-4.0 ต่อปี) เนื่องจากนักลงทุนยังชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวน้อยลงจากปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.6 ถึง 1.6 ต่อปี) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเร็วและรุนแรง สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงจากปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ1.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.2-2.2 ต่อปี) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงมาก โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐในปี 2552 จะขยายตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2551 ที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.3-9.3 ต่อปี) และร้อยละ 5.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4.9-6.9 ต่อปี) ตามลำดับ อนึ่ง การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจากระดับปัจจุบัน และการเสริมสภาพคล่องผ่านการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอย่างเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในกรณีสูงที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ในปี 2552 เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ จะปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 แต่ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ มีความเสี่ยงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุลที่ร้อยละ -1.4 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -2.4 ถึง -0.4 ของ GDP) เนื่องจากการขาดดุลการค้า โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -3.7 ถึง -1.7 ต่อปี) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -3.8 ถึง -1.8 ต่อปี) ประกอบกับดุลบริการที่คาดว่าจะขาดดุลต่อเนื่องจากปัญหาด้านการท่องเที่ยว