กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า สหภาพยุโรปหรืออียูได้ประกาศ Council Regulation (EC) No 1005/2008 of 29 September 2008 เกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unregulated and Unreported -IUU Fishing) ซึ่งคณะมนตรียุโรปได้ประกาศใช้กฎระเบียบดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป
อียูได้ให้เหตุผลในการประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวว่า การทำประมงแบบ IUU ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเล และยังเป็นอันตรายต่อทรัพยากรทางทะเล การรักษาไว้ซึ่งจำนวนสัตว์น้ำที่ยั่งยืน และความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางทะเลอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา อียูมีการนำเข้าสินค้าจากการทำประมงแบบ IUU ประมาณปีละ 1,100 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประมงทั้งหมด และขณะนี้ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อควบคุมการผลิตได้ เป็นผลให้การทำประมงแบบ IUU สามารถเข้าสู่ตลาดอียูได้อย่างง่ายดาย ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวมีข้อกำหนด ดังนี้
1) ผลิตภัณฑ์ประมงทั้งที่แปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูปภายใต้พิกัดฯ 03, 1604 และ 1605 (ยกเว้นสัตว์น้ำจืด ปลาสวยงาม สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง และหอยสองฝาบางชนิดที่ระบุไว้ในภาคผนวก 1 ของระเบียบนี้) ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) จากกรมประมงประกอบการนำเข้า
2) เรือประมงจากประเทศที่สามต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกอียูทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการก่อนเรือจะเข้าเทียบท่า
3) อียูจะทำการตรวจสอบเรือประมงจากประเทศที่สามอย่างน้อยร้อยละ 5 ของปริมาณการขนย้ายสินค้าขึ้นเรือและการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือในแต่ละปี
4) คณะกรรมาธิการยุโรปจะใช้ระบบแจ้งเตือน(alert notice) ไปยังประเทศที่สามที่เกี่ยวข้อง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือประมง
5) กรณีที่ตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนขั้นรุนแรงหรือฝ่าฝืนซ้ำอีกภายในระยะ 5 ปี จะปรับ 5 เท่าของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่จับได้จากการทำประมงแบบ IUU
6) เรือประมงอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ การระงับการค้าสินค้าจากเรือประมงนั้นกับอียู และห้ามไม่ให้เรือประมงนั้นเข้าสู่ท่าเรือของประเทศสมาชิกอียู สำหรับประเทศที่สาม อาจประกาศรายชื่อในประกาศทางราชการของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือเว็บไซต์ และจะห้ามการค้าสินค้าประมงทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศดังกล่าว
อย่างไรก็ดี อียูอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศผู้ส่งออกสินค้าที่สำคัญ รวมทั้งประเทศไทย โดยมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีระยะเวลาปรับตัวก่อนที่กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2553
อียูเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมงที่สำคัญของไทย โดยในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าประมงแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปไปอียูมูลค่าประมาณ 29,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังอียู และในปี 2551(ม.ค. — ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้าประมงแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปไปอียูมูลค่าประมาณ 29,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 18
ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://ec.europa.eu/fisheries/cfp/external_relations/illegal_fishing_en.htm