กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์
ในช่วงที่สังคมโลกหมกมุ่นอยู่กับการคาดหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจ จนบางครั้งมองข้ามเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ถูกตัดสินด้วยอำนาจเงินเป็นหลัก ความเสมอภาคและความเท่าเทียมของมนุษย์ถูกบั่นทอนลง ธรรมชาติถูกรุกรานเพื่อผลประโยชน์ การใช้ชีวิตของคนในสังคมถูกบีบให้เอาตัวรอดเป็นหลัก บางคนมองผ่านเลยไปปัญหาเหล่านี้แล้วใช้ชีวิตไปตามกระแส แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เรียกกันว่าองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO มารวมตัวเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น หรือร่วมกันปกป้องธรรมชาติที่ถูกทำลาย
องค์กรพัฒนาเอกชนจากทั่วโลก จะถูกมองและตั้งคำถาม เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าวมักจะสวนกระแสจากสังคม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย องค์กรพัฒนาสังคมถูกมองว่าเป็นองค์กรในมุมมืด ไม่มีกิจกรรมหรือองค์กรที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด และมักจะเกิดปัญหาในการดำเนินกิจกรรมอยู่เสมอ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่ามีหน่วยงานพันธมิตร ที่เห็นความสำคัญขององค์กรพัฒนาเอกชน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมขึ้นโดยการจัดอบรมให้ความรู้ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร เพื่อประสานความร่วมมือและเพิ่มเข้าใจการดำเนินกิจกรรมระหว่างสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนให้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ให้ความกระจ่างถึงโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืนว่า โครงการแบ่งปันฯ ได้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการ ศรีปทุม ยูเอสอาร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม เปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยเข้าร่วม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เกือบ 30 องค์กร และอยู่ระหว่างการอบรมในขณะนี้ สำหรับกิจกรรมหลักของโครงการคือ การจัดการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะด้านการบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งทักษะดังกล่าวมีความสำคัญ และความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนให้ทัดเทียมกับภาคธุรกิจ
ในขณะที่ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมนี้ กล่าวหลังจากได้ร่วมกิจกรรมกับผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนว่า ในส่วนตัวรู้สึกถึงความแปลกใจที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งๆ ที่กิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรพัฒนาเอกชนดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมจึงจำเป็นต้องมี เพราะจะก่อให้เกิดความร่วมมือมากยิ่งขึ้น
“ขณะนี้ สังคมส่วนหนึ่งได้บริโภคข้อมูลข่าสารอยู่แล้ว ถ้าถามผมว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ผมคิดว่าองค์กรพัฒนาเอกชนจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลเชิงบวกให้สังคมรับทราบ ดังนั้นสื่อจึงเป็นเหมือนประตูของข่าวสารที่จะทำสังคมเข้าใจภารกิจหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน การที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารขององค์กรก็จะช่วยเสริมภารกิจที่องค์กรดำเนินการอยู่และแสวงหาความร่วมมือได้ง่ายขึ้น ส่วนเทคนิคการสร้างภาพลักษณ์ที่สำคัญคือการเข้าใจบทบาทหน้าที่ระหว่างสื่อมวลชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนมีหลายด้าน หลายแขนง เช่น ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก สิ่งแวดล้อมสังคม, สัตว์ป่า และสื่อมวลชนเองก็แบ่งโครงสร้างหลายสาขาเช่นกัน ดังนั้นการเข้าใจโครงสร้างของสื่อแต่ละประเภท ก็เป็นส่วนสำคัญ เช่น การสัมภาษณ์สด การให้ข้อมูลต่อสื่อสิ่งพิมพ์รายวันต้องเป็นข้อมูลด่วน, รายสัปดาห์ ต้องเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์, สื่อโทรทัศน์ต้องมีภาพประกอบ เป็นต้น
“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม มีหลักสูตรการอบรมที่หลากหลาย มีหลายองค์กรเข้าร่วมอบรมจึงถือว่าเป็นการตอนรับที่ดี ที่ผ่านมาหากเรามองอีกด้านหนึ่งก็คือทำไมองค์กรพัฒนาเอกชนจึงไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล ผมคิดว่าทุกองค์กรมีความปรารถนาดีในการช่วยเหลือสังคม แต่ที่ต้องระมัดระวังก็คงมาจากข้อมูลบางเรื่องเมื่อเผยแพร่ไปแล้วอาจทำให้การทำงานไม่คล่องตัว แต่ผมก็ยังเห็นว่าควรทำประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้ว่าองค์กรนั้นๆ มีหน้าที่และจุดยืนอย่างไร ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร แต่สิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนขาดไปก็คือ การให้ข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ บทบาทขององค์กรไม่เด่นชัด หากมีข้อมูลที่เป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่การนิ่งเงียบ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะสังคมต้องการคนที่เข้ามาช่วยเหลือ มาปกป้องสิทธิของเรา” ดร.พจน์ กล่าว
สำหรับคุณทัศน์สรวง (สัตตกมล) วรกุล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิทยากรที่ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม กล่าวว่าการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างสื่อมวลชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไม่ถึงสื่อ และสื่อก็เข้าไม่ถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งตนเชื่อว่าหากองค์กรพัฒนาเอกชนเชื่อมั่นว่าทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ควรเปิดเผยกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนมีมากมาย เมื่อมีดีก็ไม่ต้องกลัวที่จะนำเสนอ และคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำประชาสัมพันธ์ แต่ต้องหาข้อมูลว่าสื่อไหนเหมาะกับข่าวประเภทใด หรือบางกรณีอาจต้องใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเข้ามาช่วยเหลือโครงการ เช่นเชิญดารามาเป็นฟรีเซ็นเตอร์ ก็จะทำให้ช่องทางประชาสัมพันธ์ง่ายขึ้น
สำหรับคุณมานิตย์ ขันทา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งคร่ำหวาดอยู่ในกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมาตลอด และได้ร่วมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม กล่าวถึงการเข้าอบรบในครั้งนี้ว่า หลักสูตรน่าสนใจมาก เป็นการเพิ่มเติมในหลักทฤษฎี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นปัญหาและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีการทำงาน เป็นครั้งแรกที่มีหลายหน่วยงานร่วมมือเพื่อจัดการอบรมแบบนี้ จึงขอชมเลยไปยังผู้ที่ร่วมดำเนินการ อยากให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของความร่วมมือ เพราะสังคมจะเติบโตได้คนทำงานก็ต้องมีการช่วยเหลือกัน
“สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมคือการวิเคราะห์ หรือแลกเปลี่ยนเชิงวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นอย่างไร เราต้องการความร่วมมือเป็นอย่างมาก จึงต้องทำการบ้านเยอะลดข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้น มีการวางแผน พัฒนาตัวเอนที่ชัดเจน และทำงานเชิงรุก เราเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ แต่เราไม่สามารถสื่อสารออไปได้ อาจเป็นเพราะเราไม่จัดระเบียบ หรือไม่เข้าใจสื่อดังนั้นจึงต้องจับมือเป็นเครือข่ายและทำงานอย่างต่อเนื่อง” คุณมานิตย์ กล่าว
โครงการ“แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 โดยมีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เชื่อมโยง องค์กรภาคสังคม ที่ทำงานโดยไม่หวังผลกำไร กับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อทำงานพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม ที่ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มาร่วมกันดำเนินโครงการนี้ นับเป็นหนึ่งใน 50 คู่ความดี ที่ทางโครงการได้ดำเนินการประสานงาน สร้างความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้มาทำงานร่วมกัน
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) โทร. : 081-902-5948
หรือ พิมพร ศิริวรรณ (จู) โทร. : 081-928-2808