กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสถานีภาคพื้นดินโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) ว่า โครงการร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (Small Multi-Mission Satellite) หรือ SMMS ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือพหุภาคีด้านอวกาศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ประเทศไทยได้ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดสร้างดาวเทียมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสันติระหว่างประเทศภาคีสมาชิก และได้แบ่งความรับผิดชอบร่วมกัน คือ ประเทศไทยรับผิดชอบในการจัดสร้างอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band เพื่อใช้ในการทดลองและวิจัย รวมทั้งหาแนวทางในการจัดสร้างอุปกรณ์ใช้งานจริงได้ในอนาคต ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบการสร้างอุปกรณ์ด้าน Remote Sensing การทดลองวิทยาศาสตร์ และจรวดส่งดาวเทียม รวมทั้งสถานีติดตามและควบคุมดาวเทียม
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีสื่อสารอวกาศแห่งเมืองซีอาน (Xi’an Institute of Space Radio Technology—XISRT) และองค์กรความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีน (China Academy of Space Technology—CAST) จัดสร้างอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band ทั้งในส่วนของ payload และในส่วนของสถานีภาคพื้นดิน
“ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งคณะนักวิจัยไทยไปร่วมในการออกแบบ ทดสอบ รวมทั้งจัดให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ในงานวิจัยดังกล่าว ทั้งในด้านการออกแบบ การพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band การทดสอบอุปกรณ์บนดาวเทียม SMMS ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับการใช้งานในด้านต่างๆ ” นายสือ กล่าว
ซึ่งลักษณะการใช้งานของดาวเทียม SMMS นั้น สามารถใช้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านการสังเกตการณ์โลก และด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ โดยประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะได้ร่วมมือกันพัฒนาและประยุกต์ใช้ดาวเทียมดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง การเฝ้าระวังภัยพิบัติ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตรกรรม การชลประทาน การประมง การสำรวจและการจัดทำแผนที่ เป็นต้น
และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งสถานีภาคพื้นดินดาวเทียม SMMS ขึ้น ณ อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะเป็นสถานีรับ-ส่งสัญญานย่าน Ka-band อันเป็นระบบการทดลองสื่อสารย่านความถี่สูงที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียม SMMS เพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลดิจิตอลในขณะที่ดาวเทียมโคจรผ่านบริเวณประเทศไทยประมาณ 2 รอบต่อวัน
“ขณะนี้สถานีภาคพื้นดินดังกล่าวได้จัดตั้งแล้วเสร็จ และพร้อมทำการทดสอบเพื่อรองรับการใช้งาน โดยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (AP-MCSTA) ได้แก่ องค์กรการบินอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNSA) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAST) บริษัท DFH Satellite และบริษัท Space Star มาร่วมทดสอบในด้านระบบและถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับการติดตั้ง ทดสอบ ใช้งาน และบำรุงรักษาสถานีภาคพื้นดินของดาวเทียม SMMS ให้แก่บุคลากรของไทย รวมทั้งทำการสาธิตการติดตามและสื่อสารผ่านดาวเทียม SMMS ด้วยอุปกรณ์ Ka-Band Experiment System (KABES) อีกด้วย
สำหรับข้อมูลที่ประเทศไทยได้จากดาวเทียม SMMS นี้ทางประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดใด เนื่องจากเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และในอนาคตประเทศไทยจะมีการเจรจาขอความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมขนาดเล็กดวงอื่นๆ ที่ประเทศจีนกำลังทยอยจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรในเร็วๆ นี้” นายสือ กล่าว