กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกและปริมาณผลผลิตอ้อย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกและอุปสงค์ที่ลดลงในสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสม
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลมิตรหลเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด โรงงานน้ำตาลในเครือมิตรผลมี 5 แห่ง รวมกำลังการหีบอ้อย 119,000 ตันอ้อยต่อวัน โดยในปีการผลิต 2550/2551 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% จากปีที่ผ่านมา แต่ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 16% อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิตรผลยังคงสามารถจัดหาอ้อยในปริมาณสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.0% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 12.8% และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 7.8% โดยประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทที่ระดับ 109.34 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนั้นถือว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 106.63 กก.
บริษัทยังขยายการดำเนินธุรกิจไปยังประเทศจีนด้วย โดยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนซึ่งผลิตน้ำตาลทรายได้ 1.2 ล้านตันในปีการผลิต 2550/2551 บริษัทถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน โดยในปีการผลิต 2550/2551 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานอยู่ที่ระดับ 123.5 กก. ต่อตันอ้อยซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย สัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในจีนคิดเป็น 41.3% ของรายได้รวม 32,845 ล้านบาทในปี 2550 และคิดเป็น 45.3% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัท 7,077 ล้านบาท สถานการณ์อุปทานอ้อยส่วนเกินในประเทศจีนส่งผลให้ราคาน้ำตาลลดลงอย่างมากจาก 4,436 หยวนต่อตันในปีการผลิต 2548/2549 เป็น 2,802 หยวนต่อตันในเดือนสิงหาคม 2551 อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจน้ำตาลในจีนของบริษัทลดลงจากระดับสูงสุดที่ 38.5% ในปี 2549 เป็น 30.3% ในปี 2550 และเป็น 24.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมจากธุรกิจน้ำตาลในจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ก็ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2550 มาอยู่ที่ 2,299 ล้านบาท
โรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวเพิ่งเริ่มดำเนินการผลิตในเดือนธันวาคม 2551 โดยมีกำลังหีบอ้อยเริ่มแรกที่ 5,000 ตันอ้อยต่อวันในปีการผลิต 2551/2552 ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มปลูกอ้อยในประเทศลาวตั้งแต่ปี 2549 และคาดว่าในปี 2552 จะสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในราคาที่สูงภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานที่ดินเพื่อทำธุรกิจน้ำตาลในประเทศกัมพูชาและเริ่มต้นปลูกอ้อยเมื่อช่วงต้นปี 2551
บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตแผ่นไม้อัด และธุรกิจผลิตกระดาษ ปัจจุบันโรงงานเอทานอลในไทยของบริษัทมีกำลังการผลิตที่ 400,000 ลิตรต่อวัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 642 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,139 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อันเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวและอุปสงค์เอทานอลที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า เอทานอล และแผ่นไม้อัดคิดเป็น 14.1% ของยอดขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551
ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทยังอยู่ในระดับน่าพอใจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มียอดขายรวม 30,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจน้ำตาลและเอทานอล อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.18% ในปี 2549 เป็น 46.87% ในปี 2550 แต่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55.45% ณ เดือนกรกฎาคม 2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการผลิตและการขยายงานทั้งในประเทศจีนและลาว อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงจาก 25.23% ในปี 2549 เป็น 21.55% ในปี 2550 และเป็น 17.74% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำตาลในจีนเป็นหลัก
จากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการปลูกอ้อยและภูมิอากาศที่ดีส่งผลให้ประเทศจีนมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 11.5 ล้านตันในปีการผลิต 2549/2550 เป็น 14.6 ล้านตันในปีการผลิต 2550/2551 ประกอบกับอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนที่ต่ำกว่าคาดการณ์จึงคาดว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลของจีนในปีหน้าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ