ศิลปะกับการฟื้นฟู ผู้ประสบภัย....ใน "รำลึก 4 ปีสึนามิ"

ข่าวทั่วไป Friday December 26, 2008 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล 4 ปีผ่านไปแล้วสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายในพิบัติภัยสึนามิ หลายพื้นที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยากระทั่งเกิดการฟื้นตัวในทุกๆ ด้านไปบ้างแล้ว แต่วันนี้... การช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟู จากหลายหน่วยงานยังคงต้องดำเนินการต่อไปโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประสบภัยที่ "ตกหล่น" จากการช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชน รำลึก 4 ปีสึนามิ ปีนี้ จึงถูกจัดขึ้น นอกจากเพื่อเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยกองทุนไทยพาณิชย์ รณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้และสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ยังต้องดำเนินการต่อไป มูลนิธิสยามกัมมาจล ยังได้จัดการประกวดและแสดงนิทรรศการภาพวาดในหัวข้อ "ความดีจากการแสดงน้ำใจ และการให้ที่ฉันประทับใจ" ซึ่งมีนัยยะในการสร้างความตระหนักของเด็กและเยาวชนในการมี "จิตอาสา" หยิบยื่นน้ำใจและช่วยกันพัฒนาสังคมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข "น้องปูน" หรือ "ด.ญ.รัญชิดา กิติเรืองแสง" นักเรียนชั้นป.1 อายุเพียง 7 ขวบแต่ภาพของเธอได้รับการคัดเลือกรางวัลภาพวาดยอดเยี่ยม ระดับประถมศึกษาในชื่อภาพ "อาจารย์ใหญ่" "น้องปูน" เล่าถึงที่มาของความประทับใจก่อนจะตัดสินใจลงมือวาดภาพ "อาจารย์ใหญ่" ส่งเข้าประกวดว่า... "…หนูชอบอ่านหนังสือกบนอกกะลามากค่ะ มันสนุก หนูก็อ่านไปเรื่อยๆ หนูชอบตอน...กว่าจะเป็นหมอ มีอาจารย์ใหญ่ที่ตายไปแล้ว บริจาคร่างกายให้นักเรียนหมอได้ศึกษา หนูเห็นรูปอยู่ในหนังสือหนูประทับใจเรื่องนี้มากคุณแม่บอกว่าวาดภาพนี้ก็ได้หนูก็เลยวาดภาพนี้ตามหนังสือ..." แม้เธอจะอายุยังน้อยประสบการณ์จากการให้และการได้รับอาจจะยังไม่เกิดขึ้นกับเธอโดยตรง แต่จากการได้รับฟังเรื่องราวที่ถูกเล่าขานถึงความดีของผู้อื่น ก็สามารถทำให้เธอรับรู้ได้ถึง "การให้" ที่ยิ่งใหญ่และที่สำคัญมันทำให้เด็กตัวน้อยๆ คนหนึ่งเกิดความประทับใจเข้าให้แล้ว... สำหรับภาพวาดดีเด่นระดับประถมศึกษาผู้ได้รับรางวัลยังเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 7 ขวบเช่นกัน "ด.ญ.อึน บี โก " หรือ "น้องฟัฟฟี่" โรงเรียน ณ ดรุณ ...ความประทับใจอันเกิดจากความภูมิใจที่ เคยช่วยคุณยายข้ามถนน เป็นภาพความทรงจำที่ "น้องฟัฟฟี่" ถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ เธอเล่าว่าหนูอยากให้ทุกคนมีความสุข แล้วหนูก็มีความสุขที่ได้ช่วยคนอื่น... อีกภาพที่สะท้อนความรู้สึกอันอ่อนโยนของน้องๆ ชั้นประถมศึกษา เห็นจะเป็นภาพที่มีชื่อว่า "หมาในวันเกิด" ของ "ด.ช.สิทธินนท์ ปัสสาโก" นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ...ความภูมิใจและความประทับใจจากการให้เกิดจาก "วันเกิด" ของน้องสิทธินนท์ที่เล่าว่า... "วันนี้เป็นวันเกิดของผม แม่ซื้ออาหารมาทำกับข้าวให้ลูกหมาของผมได้กินด้วย หมาที่บ้านผมเลี้ยงไว้ 10 กว่าตัวและมีหมาข้างบ้านด้วย เมื่อผมเรียก พวกมันวิ่งกระดิกหาง น้ำลายไหล มารุมผมเต็มไปหมด ผมจึงวางอาหารไว้เป็นจุดให้พวกมันกิน เป็นการฉลองวันเกิดให้ผม..." แม้วันเกิดของน้องสิทธินนท์ จะไม่มีเค้กวันเกิดและของขวัญถูกใจ แต่การได้เป็น "ผู้ให้" กลับสะท้อนมาเป็นความอิ่มเอิบใจ เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับ "ผู้ให้" ...ภาพนี้จึงคว้ารางวัลชมเชยระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีภาพวาดของน้องๆชั้นประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายอีกหลายภาพที่สะท้อนถึงรอยยิ้มและความสุขจากการให้ รวมทั้งสิ้น 18 ภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและน้ำใจของการให้ อาทิ ภาพ "ความดีจากการแสดงน้ำใจและการให้ที่ฉันประทับใจ" ของ ด.ช.กิติพงษ์ อุตสาหะ ชั้นม.3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ได้รับรางวัลดีเด่นระดับมัธยมตอนต้น ภาพ "พุทธทาส" ของด.ญ.ฐาปณี ยืนนาน ชั้นม.3 โรงเรียนบ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี ได้รับรางวัลชมเชย และภาพ "สามัคคีช่วยไทย" ของนางสาวนริศา ชัยสูตร ชั้นม.6 โรงเรียนทิวไผ่งาม คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ปีนี้ภาพที่ได้รางวัลอาจไม่ใช่ภาพที่สวยงามซึ่งเกิดจากฝีมือจากการวาดและลงสี เพราะการตัดสินภาพวาดในหัวข้อ "ความดีจากการแสดงน้ำใจและการให้ที่ฉันประทับใจ" จะคัดเลือกจาก ความงามและความดีที่สะท้อนออกมาบนภาพ ผู้วาดจะต้องรู้สึกได้ถึงความสุขจากการให้ก่อนถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ดังนั้นแต่ละภาพจึงสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้วาดผ่านความไร้เดียงสาและชนะใจกรรมการในที่สุด ซึ่งการจัดกิจกรรมประกวดภาพวาดครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ต้องการกระตุ้นความดี และความงามที่แฝงอยู่ในเด็กและเยาวชนทุกๆ คน และเพื่อตอกย้ำให้เกิดการเรียนรู้จากการ "หยิบยื่นน้ำใจ" ให้กันและกันของคนในสังคม ขณะที่ อ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล คณะจิตกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า การทำงานศิลปะไม่ได้จบอยู่ที่การวาดภาพเสร็จ แต่ศิลปะยังเป็นกระบวนการปลดปล่อย ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นตัวตนของมนุษย์ เด็กๆ ทุกคนโดยธรรมชาติแล้วสามารถจับดินสอขึ้นมาแล้วเขียนเป็นรูปได้เองตามจิตนาการและประสบการณ์ของเขาเอง นอกจากนี้ศิลปะยังเป็นเครื่องมือในการบำบัดเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย และเป็นทั้งกระบวนการในการฟื้นฟู ในบางครั้งศิลปะยังเป็นเครื่องช่วยบรรเทาและผ่อนคลายจิตใจ หรือทำให้ผู้ทำงานศิลปะสามารถคลายปมปัญหาออกมา โดยไม่ต้องใช้นักศิลปะบำบัดแต่อาจมีเพียงผู้ที่คอยกระตุ้นให้สามารถทำงานศิลปะด้วยสมาธิ มีจิตจดจ่ออยู่กับเรื่องบางเรื่องที่ค่อยๆ ผ่อนคลายมันออกมาหลีกออกจากปัญหา ซึ่งเป็นเครื่องช่วยบำบัดและฟื้นฟูจิตใจได้เป็นอย่างดี ด้าน นายอุทัย ช้างงา หรือ "ครูอ๊อด" ครูสอนศิลปะมูลนิธิเด็ก ซึ่งมีประสบการณ์ในการใช้ศิลปะเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กๆ หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ระบุว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังสึนามิ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือด้านสภาพความเป็นอยู่ในเบื้องต้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องการการฟื้นฟูทั้งระยะต้นและระยะยาวนั่นคือการฟื้นฟูด้านจิตใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ความเลวร้ายหลังคลื่นยักษ์ที่ถาโถมอยู่ภายในใจพวกเขาตลอดเวลาคือการสูญเสียครอบครัว พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง สิ่งแรกๆ การใช้ศิลปะมาช่วยในการเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ "เด็กบางคนวาดภาพกี่ครั้งๆ ก็วาดแต่รูปคลื่น ซึ่งมันบ่งบอกถึงความจำอันเลวร้ายที่ยังกัดกินใจเขาอยู่และยากที่จะจำกัดออกไปได้ แรกๆ ก็ปล่อยให้เขาวาดไปก่อน โดยไม่ต้องไปบอกว่าให้เขาวาดภาพอะไร ปล่อยให้เขาได้แสดงออกมาเอง ซึ่งการได้ทำอะไรซ้ำๆ บ่อยๆ จะทำให้เขาเกิดความคิด และระหว่างที่เขาวาดก็จะเกิดการคิดอย่างเป็นขั้นตอน แต่ครูเองก็จะต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ และเบี่ยงเบนความสนใจของเขาออกไปจากเรื่องเลวร้ายโดยการดึงเขาเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่เขาสนใจ เรื่องศิลปะไม่ใช่เรื่องการวาดเขียนอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการได้กระโดดโลดเต้น การแสดงออก การทำเรื่องเพลงก็เป็นงานศิลปะ" ครูอ๊อด กล่าว ครูอ๊อด ยกตัวอย่างเยาวชนในพื้นที่บ้านทุ่งหว้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิคนหนึ่งให้ฟังว่า... "...เขาสามารถแต่งเพลงได้เอง แต่เมื่อเวลาร้องเพลงเขาไม่สามารถร้องเพลงนี้ได้เลยเพราะทำให้เขาต้องร้องไห้ เพราะคิดถึงพ่อแม่ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกครั้งที่ร้องครูจะเป็นผู้คอยปลอบใจ ใช้เวลาอยู่หลายเดือนที่ให้เขาร้องเพลงและปล่อยให้เขาร้องไห้ โดยมีครูช่วยปลอบใจ พร้อมกับสำรวจถึงความพร้อมและพัฒนาการความเข้มแข็งของจิตใจ กระทั่งเขาสามารถร้องเพลงได้จบและเข้าห้องบันทึกเสียงได้ สุดท้ายเขาก็ได้รับคำชม ซึ่งทำให้เขาเกิดความยินดี เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองและเริ่มคิดได้ว่า "..แม้เขาจะสูญเสียพ่อและแม่ไป แต่เขายังต้องดำรงชีวิตอยู่ตรงนี้ ไม่หนีออกไปจากทะเลและบ้านเกิด ปัจจุบันเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กำลังศึกษาต่อและมีชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ" วันนี้...แม้เสียงคลื่นภายในจิตใจของเด็กๆ และเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จะสงบลงแล้ว แต่การ "ให้" ของคนในสังคมไทยยังคงต้องมีอยู่ต่อไป ทำอย่างไรที่ "การให้" จะไม่ขาดสายไปนับต่อจากนี้ เพราะแม้จะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นกับสังคมไทย แต่การให้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจทั้งผู้ได้ให้และผู้ได้รับ "..หวังว่าคงไม่ต้องรอให้เกิดสึนามิอีกครั้งเพื่อจะได้เห็นน้ำใจของคนไทย เพราะวันนี้เราก็สามารถเป็นผู้ให้ได้ด้วยใจ และรอยยิ้ม.." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์โทร. 02-2701350

แท็ก สึนามิ   ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ