กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ก.ล.ต.
จากที่ปรากฏข่าวว่า รถยนต์ของ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“SECC”) หายไปจากบัญชีจำนวนมาก ภายหลังจากที่นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการบริษัทได้หลบหนีไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2551
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงาน ของบริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“SECC”) ซึ่งรวมถึงสินค้าคงคลังของบริษัท ปรากฏว่า ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2551 มีรถยนต์คงเหลืออยู่ในบัญชีสินค้าคงเหลือจำนวน 501 คัน รวมมูลค่า 1,425,777,958.53 บาท แต่ปรากฏว่า รถยนต์จำนวน 493 คัน มูลค่าประมาณ 1,409 ล้านบาท ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด และน่าเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง
การตรวจสอบดังกล่าว พบการกระทำผิดในหลายลักษณะต่างกรรมต่างวาระ ในชั้นนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารของบริษัท SECC 2 ราย เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในประเด็น ดังนี้
1. นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ในฐานะประธานกรรมการที่รับผิดชอบการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัท ได้เบียดบัง ยักยอกเงินของบริษัทด้วยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ต้องจ่ายเงินจากบัญชี
SECC ให้แก่ตนเอง หรือบุคคลอื่น เพื่อซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริงนั้น ทำให้บริษัท SECC ได้รับความเสียหาย ประมาณการในเบื้องต้นสำหรับปี 2551 มีการจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง จำนวน 196 คัน มูลค่าประมาณ 597.9 ล้านบาท
การกระทำข้างต้นของนายสมพงษ์ฯ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 307 308 311 และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ โดยมีนางสาวนิภาพร คมกล้า ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 308 และ 311 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
2. นายสมพงษ์ร่วมกับนางสาวนิภาพรจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง และจัดให้มีการบันทึกบัญชีซื้อรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้จำนวนรถยนต์ที่แสดงบัญชีเป็นสินค้าคงเหลือ เป็นเท็จ ไม่ตรงต่อความเป็นจริง การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ การกระทำข้างต้นมีบริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด บริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด และนายกฤช เอกมงคลการ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัททั้ง 2 แห่งข้างต้น เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และให้ความสะดวกในการดำเนินการซื้อรถยนต์
จ่ายเงิน และจัดทำเอกสารเท็จ ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 308 311 และ 312 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ นางสาวนิภาพร คมกล้า นายกฤช เอกมงคลการ บริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด และบริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันนี้ (26 ธันวาคม 2551)
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “กรณี SECC เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนและลูกค้าของบริษัทได้รับผลกระทบมาก สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำผิด ซึ่งในชั้นนี้พบว่ามีบุคคลและนิติบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิดรวม 5 ราย และยังพบว่าอาจมีผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เข้าลักษณะกระทำผิดในเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและจะเร่งดำเนินการต่อไป”
อนึ่ง กรณีที่ปรากฏข่าวก่อนหน้านี้ว่า ผู้ลงทุนบางรายขายหุ้น SECC แล้วไม่ได้รับชำระเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ และอาจมีเจ้าหน้าที่การตลาดกระทำการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
มาตราใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๓๐๗ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าวหรือทรัพย์สินที่นิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๓๐๘ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของนิติบุคคลดังกล่าวหรือซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๓๑๑ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๓๑๒ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำหรือยินยอมให้ กระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสารหรือหลักประกันของนิติบุคคลดังกล่าวหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลดังกล่าว
(๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือ เอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น หรือ
(๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๓๑๓ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ใดฝ่าฝืน
มาตรา ๓๐๗ มาตรา ๓๐๘ มาตรา ๓๐๙ หรือมาตรา ๓๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี และปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืนในมาตรานั้น ๆ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ตํ่ากว่าห้าแสนบาท
มาตรา ๓๑๕ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการ ดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือผู้สอบบัญชี กระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๘๗ มาตรา ๓๐๖ มาตรา ๓๐๗ มาตรา ๓๐๘ มาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๑ หรือมาตรา ๓๑๒ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ เว้นแต่ผู้นั้นมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น
ฝ่ายงานเลขาธิการ - Press Office
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โทรศัพท์ 0-2695-9502-5
โทรสาร 0-2256-7755
E-mail: press@sec.or.th