กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
TMC เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ภายใต้โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Thailand Software Park) พร้อมประกาศผลสำเร็จเพิ่มอีก 4 ราย ส่งผลให้ล่าสุดมีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยผ่านการประเมินมาตรฐาน CMMI แล้ว 18 ราย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสแก่ซอฟต์แวร์ไทยในตลาดโลกมากขึ้น
CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration เป็นต้นแบบของการพัฒนากระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ ที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute, SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้น โดยเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ที่นำ CMMI มาใช้จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จในการทำงาน และได้รับงานมากขึ้นตามไปด้วย
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ประเมินผ่านมาตรฐาน CMMI รวมทั้งสิ้น 18 บริษัท เพิ่มจากเดิม 3 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ และความตั้งใจจริงของบริษัทซอฟต์แวร์ภายใต้โครงการ SPI@ease ที่ร่วมกันผลักดัน ทำให้ประเทศไทยมีบริษัทที่ประเมินผ่าน CMMI มากเป็นประเทศอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีบริษัทผ่านการประเมินมาตรฐานดังกล่าวถึง 50 และ 20 ราย ตามลำดับ โดยคาดว่าในปี 2552 ประเทศไทยจะมีบริษัทที่ผ่าน CMMI ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท ซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“จากข้อมูลของสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีบริษัทจากทั่วโลกที่เข้ารับการประเมิน CMMI ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาครัฐในประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่บริษัทซอฟต์แวร์จะได้รับจากการประยุกต์ใช้ CMMI ในองค์กร พร้อมทั้งให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการให้ทุนสนับสนุนต่างๆมากมาย” ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงการ SPI@ease จะช่วยผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐาน CMMI แล้ว ยังสร้างโอกาส สร้างงาน และรายได้ให้กับ CMMI Service Provider มีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาทอีกด้วย สำหรับปีนี้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัทซอฟต์แวร์ที่สนใจเข้ารับการประเมิน CMMI เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษา 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ร่วมผลักดันมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ ISO 15504 และ ISO 27001 สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย ซึ่งทุกความร่วมมือถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดัน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถปักธงในแผนที่ซอฟต์แวร์โลกในอนาคตอันใกล้นี้”
สำหรับงานสัมมนา SPI@ease Achievement Series ครั้งที่ 3 นี้มีบริษัทซอฟต์แวร์ภายใต้โครงการ SPI@ease ที่ผ่านการประเมิน CMMI เพิ่มขึ้นอีก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอคอนเซ็ปส์ จำกัด, บริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด และบริษัท พรอมต์นาว จำกัด
นายวีรพล ศรีไพรวัลศุภกิจ Project Director บจก.โกซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โกซอฟท์เป็น IT Services Provider ในเครือของบริษัท CP ALL งานของบริษัทจะให้บริการด้าน IT ครบวงจร ตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษา การพัฒนาระบบจนถึงการดูแลระบบที่ได้พัฒนาแล้วเสร็จ การให้บริการด้าน Data Center Solution Provider และ IT Facility & Services ให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด และลูกค้าทั่วไป ซึ่งการผ่านประเมิน CMMI level 3 นี้ช่วยตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งเน้นให้บริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล ทำให้สามารถนำมาพัฒนาคุณภาพการให้บริการได้ ส่งผลดีต่อความพึงพอใจของลูกค้า ทั้งยังช่วยลดข้อบกพร่องและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถบริหารเวลาได้ลงตัว จัดการต้นทุนให้อยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ และทำให้การทำงานขององค์กรเป็นระบบเดียวกัน สามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนได้
ด้าน นางสาวณัฐธิดา สงวนสิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด บจก.ไอคอนเซ็ปส์ กล่าวว่า บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย เกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปใช้ในงานด้านความมั่นคงของทหาร ตำรวจ นิติวิทยาศาสตร์ และตรวจคนเข้าเมือง การผ่านประเมิน CMMI level 3 นอกจากมีผลดีต่อระบบงานขององค์กรแล้ว ยังมีผลดีต่อการจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้วย เนื่องจาก CMMI เป็นมาตรฐานสากลที่รู้จักกันดีในสหรัฐอเมริกา และลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกาด้วย ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นว่าได้มาตรฐานสากล
ขณะที่ นายฉัตรเฉลิม โขสูงเนิน ที่ปรึกษา บจก.เด็พธเฟิร์สท กล่าวว่า บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการจัดการระบบเอกสารของงานราชการ และพัฒนาเกตเวย์ (gateway) สำหรับแปลงข้อมูลที่ส่งมาจากแหล่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการอ่านและจัดการ ซึ่งการผ่านประเมิน CMMI level 2 นี้ทำให้กระบวนการทำงานในองค์กรมีมาตรฐานมากขึ้น มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน และพนักงานสามารถช่วยกันตัดสินใจได้หากเกิดปัญหา โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเพียงผู้เดียว ข้อดีอีกอย่างคือ ช่วยให้จัดการความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายได้ เนื่องจากการทำงานจะมีเอกสารกำกับ ทำให้ทราบว่าขอบเขตความต้องการของลูกค้าอยู่ตรงไหน สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด
สุดท้าย นายณัฐจิระ ฮอนดา ผู้จัดการทั่วไป บจก.พรอมต์นาว กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้บนโทรศัทพ์มือถือ และพัฒนาเกมออนไลน์ที่เล่นกันบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งการผ่านประเมิน CMMI level 2 ทำให้กระบวนการทำงานทั้งหมดของบริษัทเป็นระบบเดียวกัน ลดเวลาในการประสานงานระหว่างทีมงานด้วยกัน หรือระหว่างทีมงานกับลูกค้า สามารถควบคุมเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ โครงการแต่ละโครงการที่ทำก็มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งยังมีเอกสารกำกับชัดเจน เมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือข้อสงสัยก็สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ข้อดีอีกด้านคือ มาตรฐาน CMMI ช่วยการันตีมาตรฐานซอฟต์แวร์ของบริษัทได้ว่ามีคุณภาพในระดับสากล
นอกจาก CMMI จะเป็นมาตรฐานการทำงานให้องค์กรแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้แข่งขันได้ในเวทีระดับสากลในอนาคตอีกด้วย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com