กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.ร่วมมูลนิธิข้าวไทย จัดโครงการกระตุ้นเยาวชนให้ตระหนักในคุณค่าอาชีพเกษตรกรรม ฐานรากสำคัญของประเทศ พร้อมส่งดูงานเกษตรกรเวียดนาม เพื่อศึกษาวิถีชีวิต การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของประเทศคู่แข่ง หวังนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนากระบวนการผลิตของข้าวไทย
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการรักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าภาคเกษตรกรรมของไทยกำลังประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้านทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต วิกฤตราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภาวะการแข่งขันในตลาดโลก และเหนือสิ่งอื่นใดคือปัญหา แรงงานในภาคเกษตรกรรมลดลงและขาดคุณภาพ สาเหตุเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมากขึ้น ขณะที่ลูกหลานไม่สนใจที่จะทำอาชีพเกษตรสืบทอดต่อจากพ่อแม่ มีการขายที่ดินทำกินมาเป็นแรงงานรับจ้างในภาคอื่น ๆ จนเกิดปัญหาต่อเนื่องมากมาย ดังนั้นเพื่อให้ภาคเกษตรกรรมของไทยมีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องเริ่มที่คนโดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
นายเอ็นนูกล่าวอีกว่า โครงการอนุชนชาวนาไทย เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และ ธ.ก.ส.จัดทำขึ้นเพื่อจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ หันมาตระหนักถึงคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ พร้อมเติมความรู้เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดให้กับประเทศต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าค่ายอบรมการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวนาในชนบท การส่งผู้แทนอนุชนไปดูงานต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวิถีการผลิตคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ ทำไมเวียดนามจึงสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตโดยเฉพาะเรื่องข้าวอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทย
การดูงานของผู้แทนอนุชนชาวนาไทยที่เวียดนาม ระหว่างวันที่ 5 — 13 มกราคม 2552 รวม 9 วัน จะมีทั้งการเข้าไปสัมผัสวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรเวียดนามโดยการปฏิบัติจริง เพื่อซึมซับวิธีคิด กระบวนการผลิต การไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรทั้งของภาครัฐและเอกชน การเข้าฟังบรรยายสรุปเรื่องการค้าข้าวของเวียดนามโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การเยี่ยมชมการดำเนินงานของธนาคารเกษตรเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งผลจากการดูงาน คาดว่าจะสร้างองค์ความรู้ที่ดีให้กับเยาวชนไทย และนำมาปรับใช้กับการพัฒนาในประเทศไทยต่อไป
สำหรับนโยบายของ ธ.ก.ส. ในการสร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่เพื่อทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้นนั้น นอกจากความร่วมมือกับองค์กรต่างๆแล้ว ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านที่มีอยู่กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมให้กับเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกร ได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำการเกษตรที่ยั่งยืนการลดต้นทุนการผลิต การวางแผนการผลิต การทำบัญชีฟาร์ม เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงในการทำอาชีพเกษตรกรรมและสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป