กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--เจเอสแอล
หลายคนค้นพบความต้องการตัวเองและเดินตามรอยฝันนั้นได้แต่เยาว์วัย บางคนอาจใช้เวลาอีกกว่าครึ่งทางชีวิต แต่สำหรับ สกุล อินทกุล กว่าจะค้นพบตนเองว่าอยากเป็นนักจัดดอกไม้ เด็กเรียนเก่งอย่างเขาจึงต้องเรียนจนจบวิศวะอิเล็กทรอนิคส์จากลาดกระบัง และบริหารธุรกิจจากลอนดอน ถึงวันนี้ เขาฝึกปรือสั่งสมฝีมือจนชื่อเสียงเลื่องลือไกล จนเจ้าของโรงแรมรีสอร์ตชื่อดัง ที่ตั้งอยู่บนชะงอนผาริมมหาสุมทรอินเดียเรียกหาเพียงเขาเท่านั้นไปสร้างสีสันให้โรงแรมหรู ด้วยผลงานของ สกุล นั้นใช่เพียงจัดดอกไม้ใบไม้มาเสียบวาง แต่เขาทำราวกับเสกสรรงานประติมากรรม มีผลงานการจัดดอกไม้ในงานฉลองครองสิริราชสมบัติเป็นพยานหลักฐานความงดงาม “สุริวิภา” จึงตามรอยไกลไปถึง โรงแรมบูการี่ ในเขตอูรูวาตู ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตามหาเส้นทางดอกไม้ต่างแดนกับ นักจัดดอกไม้ชื่อดัง
สกุล อินทกุล ได้เล่าถึงผลงานการจัดดอกไม้ที่สร้างความภาคภูมิใจที่สุดว่า “ผมมีโอกาสได้ไปจัดงานดอกไม้ที่ อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ลอนดอน และล่าสุดคือบาหลี ก่อนหน้านั้น จัดดอกไม้ให้ส่วนต้อนรับด้านหน้าของโรงแรมสุโขทัยมาได้ 8 ปีแล้วครับ ในแนวคิด ‘สุโขทัยไตรรัตนา’ และที่โรงแรมคอนราดเช่นเดียวกัน ส่วนความภาคภูมิใจที่สุด คือการได้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท ซึ่งทั้งผมครอบครัวและน้องๆในบริษัทต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งเราก็ได้ทำงานภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณข้าหลวง คือ งานจัดแสดงผ้าไหม และงานพระราชทานเลี้ยงที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งทำมาได้ 7 ปีแล้ว ส่วนที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือ งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในงานฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งงานนั้นใช้ช่างจัดดอกไม้และช่างทำงานโครงสร้างต่างๆ ราวกว่า 300 คนครับ”
ส่วนการโกอินเตอร์นั้น นักจัดดอกไม้ไทย เล่าถึงการได้มาจัดดอกไม้ให้โรงแรมรีสอร์ตหรูว่า “เมื่อเดือนกันยายน โรงแรม Bvlgari บาหลีจะเปิดตัว เจ้าของแบรนด์ Bvlgari ซึ่งมีโรงแรมแห่งแรกที่มิลาน และเป็นเจ้าของ แบรนด์เนมชื่อดังด้านผลิตภัณฑ์น้ำหอม กระเป๋า เขาเห็นผมจากบทสัมภาษณ์ที่ลงในแม็กกาซีนต่างประเทศ และจากหนังสือการจัดดอกไม้เมืองร้อน ซึ่งผมร่วมกับพี่แอ๊ว(วงวิภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ช่วยกันทำขึ้นโดยสำนักพิมพ์สิงคโปร์ ซึ่งตอนนี้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วครับ เขาเลยติดต่อให้มาออกแบบตกแต่งจัดดอกไม้ให้โรงแรมแบบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผมด้วยที่ได้จัดทั้งหมดให้โรงแรมแบบนี้ ผมเลยต้องศึกษาทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิตประจำวัน ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ของที่นั้น เพื่อนำมาใช้ในงาน”
‘สุริวิภา’ จึงบินลัดฟ้าไปเขตอูรูวาตู ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับ สกุล เพื่อชมผลงานของเขาที่บูการี่ บริเวณโถงต้อนรับด้านหน้า เป็นงานโครงสร้างเหล็กสีดำรูปร่างคล้ายใบไม้ปลายแหลมตั้งตระหง่านอยู่ 3 ชิ้น ประดับด้วยดอกลีลาวดีดอกไม้ประจำชาติของบาหลี “งานของผมเรียกว่า Living Sculpture เป็นงานกึ่งประติมากรรม ใช้แนวคิด Flower for God ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้บูชาของที่นี่เอง เพราะที่นี่ให้ความสำคัญกับการไหว้บูชาเทพเจ้ากันมาก ว่ากันว่า 1 ใน 3 ชองชีวิตผู้หญิงบาหลีหมดไปกับการทำดอกไม้บูชา โครงสร้างที่คล้ายแท่นบูชาแทนการเคารพเทพ 3 องค์ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งจะสอดคล้องกับส่วนต่างๆ ทั้งหมดของโรงแรม ทั้งประดับบนโต๊ะ ในห้องพัก รวมทั้งงานประติกรรมวงกลมสีดำประดับดอกไม้สีขาวกลางโถงด้านในโรงแรม ที่ผมได้แนวคิดว่า ผ้าขาวม้าลายขาวดำที่เขาผูกบูชา งานทั้งหมดผมจะทำเป็นต้นแบบไว้ แล้วทุกๆ 3 เดือนจะไปดู แต่ทุกวันจะมีคนที่นี่คอยเปลี่ยนดอกไม้ให้ ผมเลือกดอกไม้ท้องถิ่น ไม่อยากให้นำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ เป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เขา และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรพื้นบ้านด้วย”
สกุล เล่าต่อถึงการสร้างแรงบันดาลใจในแนวคิดของงานว่า “เวลาที่ผมต้องมาจัดดอกไม้ที่ต่างประเทศ ผมจะศึกษาวัฒนธรรมของเขาก่อน ผมเดินทางไปล่วงหน้าก่อนเริ่มงานหลายครั้ง โชคดีว่าผมเองชอบท่องเที่ยว อ่านหนังสือเยอะ และยังต้องเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารด้วย ก็จะศึกษาดอกไม้ท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมทั้งศึกษาวิธีการจัดแบบท้องถิ่น อย่างมาที่นี่เจ้าของโรงแรมก็หาคุณป้าของเขามาสอนให้เอง ”
สกุลจึงใช้วิธีการศึกษาทั้งการอ่านหนังสือตระเวนชมการแสดงพื้นถิ่นเพื่อเรียนรู้ขนบประเพณีและวัฒนธรรม และตลาดสดก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งจะทำให้ได้เห็นความเป็นตัวตนของท้องถิ่นอย่างแท้จริง สกุลจึงพานู๋แหม่มตามรอบเส้นทางสร้างแรงบันดาลใจ ในตลาดเล็กๆ ของเมืองอุบูต เช้าวันนั้นตลาดสดคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่าย ท่ามกลางอาหารการกินหลายชนิดมีกระจาดไม้ที่รายเรียงดอกไม้หลากสีสันสดใสตัดกันอย่างงดงาม วางสลับทำให้บรรยากาศยามเช้ายิ่งสดชื่น บางร้านจัดดอกไม้หลากสีลงในกระทงใบเล็กๆ แต่ละสีแทนความหมายการบูชาเทพเจ้าที่ชาวบาหลีเคารพทั้งพระพรหมพระวิษณุและพระศิวะ สกุลช่วยอธิบายเกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจให้ได้ฟัง จากนั้นยังซื้อดอกไม้ใบไม้จากตลาดมาสาธิตการเรียนการสอนวิธีการจัดดอกไม้แบบท้องถิ่นบาหลีด้วย
งานนี้จึงเชิญครูซึ่งเป็นคุณป้าเจ้าของโรงแรมมาช่วยสอนนู๋แหม่มจัดสานกระทงดอกไม้สไตล์บาหลี แถมยังได้สวมชุดประจำชาติบาหลีด้วย โดยเจ้าของโรงแรมลงทุนให้ยืมชุดแต่งงานของตัวเองให้สกุลใส่ แต่สำหรับนู๋แหม่มแล้วก็ต้องหาไซด์ใหญ่กว่าเจ้าสาวตัวจริงอีกเล็กน้อย งานนี้นู๋แหม่มบอกว่ามีความสุขมากๆ ตอนเย็น สกุล ยังพาไปวังเก่าแก่ในเขตอุบูตซึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้านาย เพี่อชมการแสดง “รามายณะ” ในสไตล์บาหลี ที่มีเนื้อหาเรื่องราวเดียวกันกับโขนรามเกียรติ์ในบ้านเรา การแต่งกายและการประดับดอกไม้บนเครื่องสวมศรีษะของตัวละครเป็นอีกจุดหนึ่งที่ สกุล สนใจศึกษา “เรามาดูเพื่อให้รู้ว่าในงานพิธีกรรม เขานำดอกไม้มาใช้อย่างไรบ้าง ทั้งการตกแต่งสถานที่ เครื่องทรง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าเขาใช้ดอกไม้อย่างไรในชีวิตประจำวันและการแสดงของเขา” นอกเหนือความสวยงามของดอกไม้ในโชว์ที่สร้างความเพลิดเพลินแล้วลีลาการร่ายรำยังทำให้นู๋แหม่มตื่นตะลึงด้วย!!
สกุล ได้เล่าถึงเส้นทางการเป็นนักจัดดอกไม้ของเขาว่า "ตอนเด็กๆ สมัยนั้นเราจะไม่ค่อยรู้ว่ามีอาชีพทางศิลป์ที่หลากหลาย พอเราเรียนหนังสือเก่ง ก็ไม่พ้นที่จะต้องเลือกเรียนไปทางหมอหรือวิศวะ ไม่เคยคิดเลยว่าการทำงานกับดอกไม้จะเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่เป็นครู ทำโรงเรียนของตนเอง ทั้งพาณิชยการสุโขทัย เทคโนโลยีและวิทยาลัยที่นครราชสีมา ตอนเรียนจบบริหารธุรกิจใหม่ๆ ได้เข้าไปช่วยที่โรงเรียนด้วย แต่ในขณะที่เขานั่งประชุมงานกัน ใจเรากลับคิดว่าตรงนั้นน่าจะเอาพวงครามมาลงปลูกนะ ตรงโน่นน่าจะใช้หินทรายประดับ คือผมเคยได้เรียนการจัดดอกไม้มาตั้งแต่ช่วงมัธยม แอบเรียน ได้ทุนไปเรียนญี่ปุ่น เวลาที่เหลือวางก็แอบไปเรียนจัดดอกไม้ ตอนที่จบทำงานใหม่ๆเป็นเซลส์ ที่ตึกเดียวกันมีโรงเรียนสอนจัดดอกไม้มาเปิด ก็แอบเรียนเป็นงานอดิเรก ทำไปทำมาเรียนอยู่ 2 ปี จนจบหลักสูตรเป็นครูสอนจัดดอกไม้ได้เลย ตอนแรกคุณแม่ก็เสียใจหน่อยๆ แต่ตอนนี้ท่านก็สนับสนุนเต็มที่แล้วครับ ความจริงผมชอบดอกไม้ตั้งแต่เล็กๆ ไปบ้านลุงที่หนองจอกมักจะขอปักชำต้นไม้ ที่จำได้แม่นคือขอเมล็ดบานเย็นมาแช่น้ำปลูกเอง พอเริ่มแตกใบเลี้ยง จนโตๆๆ แล้วออกดอก แค่นั้นก็ทำให้เด็กอย่างผมอัศจรรย์ใจได้แล้ว”
แต่ความตั้งใจในงานดอกไม้ของ สกุล ยังไม่หมดลงง่ายๆ เขาตั้งใจจะสร้างชื่อสร้างให้ศิลปะการจัดดอกไม้แบบไทยๆ “ผมอยากทำหนังสือวัฒนธรรมการจัดดอกไม้ของไทยเป็นภาษาอังกฤษอีกสักเล่ม เพื่อเผยแพร่ผลงานการจัดดอกไม้ของไทย เพราะหลังจากที่ได้ทำงานรับใช้ทางสำนักพระราชวัง ทำให้ได้ความรู้มากมายจากคุณข้าหลวงฝ่ายใน ที่คิดว่าน่าจะนำมาถ่ายทอด เพราะเชื่อว่าสำหรับคนต่างชาตินั้น ยังไม่มีอะไรอ้างอิงที่ทำให้เขานึกถึงว่า ยังมีอีกประเทศหนึ่งนะที่มีศิลปะและวัฒนธรรมการจัดดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์งดงามเช่นนี้”
ติดตามชมภาพความสวยงามและเส้นทางของแรงบันดาลใจ เหล่านี้ได้ ใน “สุริวิภา” วันพุธที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เวลาดีสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ต้องการข้อมูลเพิ่มติดต่อ วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 0 — 1804 — 5493
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net