กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ (วันที่ ๒ ม.ค. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๔๖๔ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๕๒ ราย ผู้บาดเจ็บ ๔๙๒ ราย รวมสะสม ๔ วัน (๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๒ ม.ค.๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๗๙๓ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๒๗๘ คน ผู้บาดเจ็บ ๒,๙๙๖ คน
พร้อมสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดจับกุมผู้ขับขี่รถด้วยความประมาท โดยเฉพาะรถโดยสารระยะทางไกลที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก พร้อมขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลือกใช้เส้นทาง และช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งร่วมกันสอดส่องผู้ร่วมใช้เส้นทางที่มีพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๒ ม.ค. ๕๒
ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ช่วง ๗ วันระวังอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม ๔๖๔ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๘๕๘ ครั้ง) ๓๙๔ ครั้ง ร้อยละ ๔๕.๙๒ ผู้เสียชีวิต ๕๒ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๗๔คน) ๒๒ คน ร้อยละ ๒๙.๗๓ ผู้บาดเจ็บ ๔๙๒ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๙๕๐ คน) ๔๕๘ คน ร้อยละ ๔๘.๒๑ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ ๔๑.๕๙ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ
๒๑.๕๕ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๓.๖๒ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๖๐.๗๘ บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๓.๖๒ ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๒.๙๗ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๖๖.๕๙ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๓.๑๙ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า ๒๕ ปีร้อยละ ๔๓.๓๘
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ๑๗ ครั้ง รองลงมา นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ จังหวัดละ ๑๖ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิจิตร ๔ คน รองลงมา เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ร้อยเอ็ด สิงห์บุรี และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ ๓ คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ๒๑ คน รองลงมา เพชรบูรณ์ ๑๙ คน
ชลบุรี ๑๘ คน โดยได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๒,๙๕๙ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๗๖,๖๕๐ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๗๓๖,๕๙๕ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ร. รวม ๕๗,๖๕๖ ราย ไม่มีใบขับขี่ ๒๐,๐๑๘ ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๗,๗๐๑ ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ๔วัน (๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๒ ม.ค. ๕๒) รวม ๒,๗๙๓ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๒,๘๒๓ ครั้ง) ๓๐ ครั้ง ร้อยละ ๑.๐๖ ผู้เสียชีวิตสะสมรวม ๒๗๘ คน มากกว่าปี ๕๑(๒๖๒ คน) ๑๖ คน ร้อยละ ๖.๑๑ ผู้บาดเจ็บสะสมรวม ๒,๙๙๖ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๓,๐๘๑คน) ๘๕ คน ร้อยละ ๒.๗๖ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ สุรินทร์ ๙๖ ครั้ง รองลงมา เชียงราย ๙๔ ครั้ง
จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ยโสธร จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๕ คน รองลงมา นครราชสีมา ๑๑ คน จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต มี ๑๐จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ๑๐๖ คน รองลงมา สุรินทร์ ๑๐๕ คน
นายอนุชา โมกขะเวส กล่าวต่อไปว่า ในช่วง ๑ — ๒ วันนี้ประชาชนจะทยอยเดินทางกลับจำนวนมาก ทำให้เส้นทางขากลับมียานพาหนะคับคั่ง โดยเฉพาะถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ประกอบกับการเดินทางหลายวัน อาจทำให้เกิดอาการอ่อนล้า จึงได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดจับกุมดำเนินคดีกับผู้ขับขี่รถด้วยความประมาท โดยเน้นมาตรการ ๓ม ๒ข ๑ร อย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดการตรวจสอบรถโดยสารระยะทางไกลที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก โดยเฉพาะ รถเช่าเหมาทัศนาจร ซึ่งมีพนักงานขับเพียงคันเดียว อาจเกิดการหลับใน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ตลอดจนให้จังหวัดนำอุปกรณ์ไฟสัญญาณวับวาบไปติดตั้งบริเวณเส้นทางสำคัญที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ และเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกลับ ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนวางแผนการเดินทาง โดยสอบถามข้อมูลเส้นทางได้ทาง สายด่วน ๑๑๙๓ หรือสายด่วน ๑๑๙๗ และเลือกใช้เส้นทาง และช่วงเวลาเดินทางที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งตรวจสอบสภาพรถให้พร้อม โดยนำรถไปใช้บริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ศูนย์บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และร่วมกันสอดส่องดูแล หากพบพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น แซงกระชั้นชิด ขับส่ายไปมา บรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระมากกว่าปกติ ระบบสัญญาณไฟไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ดำเนินการเรียกตรวจในทันที รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจอดรถซื้อของฝากริมข้างทาง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากมีอาการง่วงนอน ให้จอดแวะพักตามจุดบริการที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้หรือสถานีบริการน้ำมัน สำหรับผู้ที่เดินทางผ่านกรุงเทพฯและจังหวัดขนาดใหญ่ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง ส่วนประชาชนที่เดินทางผ่านภาคเหนือ จะมีหมอกหนาในช่วงเช้า และภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปจะมีฝนตกหนัก ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยไม่ดีเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ หากมีปัญหารถเสียระหว่างเดินทาง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน ๑๗๘๔ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะจัดส่งชุดเจ้าหน้าที่ออกให้ความช่วยเหลือต่อไป