ศปถ. สั่งการจังหวัดปรับแผนจุดตรวจ เน้นตรวจจับรถจักรยานยนต์ และเมาแล้วขับ

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2009 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันแรกของการเดินทาง (วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๑) เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม ๕๙๖ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๕๖ ราย บาดเจ็บ ๖๓๕ ราย สาเหตุหลักเกิดจากเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกำหนด พร้อมสั่งการจังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ เน้นหนักถนนสายรอง และบริเวณใกล้สถานบันเทิง เพื่อเรียกตรวจรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และการไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ตลอดจนกำชับจุดสกัดในท้องถิ่นกว่า ๑๖,๐๐๐ จุด กวดขันผู้ใช้รถใช้ถนนให้ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ ประจำวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๑ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันแรกของการเดินทางช่วง ๗ วันระวังอันตราย (วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๑) พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม ๕๙๖ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๑(๔๔๐ ครั้ง) เพิ่มขึ้น ๑๕๖ ครั้ง ร้อยละ ๓๕.๔๕ ผู้เสียชีวิต ๕๖ คน มากกว่าปี ๒๕๕๑ (๓๓ ราย) เพิ่มขึ้น ๒๓ ราย ร้อยละ ๖๙.๗๐ ผู้บาดเจ็บ ๖๓๕ คน มากกว่าปี ๒๕๕๑ (๔๗๘ คน) เพิ่มขึ้น ๑๕๗ คน ร้อยละ ๓๒.๘๕ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ ๓๘.๒๖ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๑.๙๘ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๖.๐๙ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๕๗.๐๕ บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๕.๒๓ และถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๓๓.๗๒ และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๗๐.๔๗ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๒.๓๘ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน อายุ ๒๕ — ๔๙ ปี ร้อยละ ๔๓ รองลงมา อายุต่ำกว่า ๒๔ ปี ร้อยละ ๔๒.๔๐ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ๔ คน รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพฯ ชัยนาท ชัยภูมิ อำนาจเจริญ เชียงราย จังหวัดละ ๓ คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ๓๙ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๓๒ คน รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๒๙ คน และจังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน ๕ จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ยโสธร สกลนคร พังงาและชุมพร จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๒๘ ครั้ง รองลงมา เพชรบูรณ์ ๒๖ ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุจำนวน ๓ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สกลนคร และพังงา ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๒,๙๖๐ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๗๓,๒๒๗ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๖๒๖,๓๒๕ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ร. รวม ๓๙,๕๑๖ ราย ส่วนใหญ่ ไม่มีใบขับขี่ ๑๔,๗๙๐ ราย คิดเป็น ๓๗.๔๓ รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๓,๕๘๒ ราย คิดเป็น ๓๔.๓๗ นายสุรชัย เปิดเผยต่อไปว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปี ๒๕๕๑ คาดว่า จะมีประชาชนเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ตามสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ประกอบกับประชาชนเริ่มทยอยเดินทางถึงภูมิลำเนา และสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว จึงได้ประสานให้จังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจและจัดชุดสายตรวจตระเวนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นหนักเส้นทางสายรอง ทางเข้าออกชุมชน หมู่บ้าน และบริเวณใกล้สถานบันเทิงในช่วงกลางคืน เน้นการเรียกตรวจรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐ เพื่อตรวจจับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งการเมาแล้วขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย พร้อมกำชับจุดสกัดภายในชุมชน หมู่บ้าน กว่า ๑๖,๐๐๐ จุดทั่วประเทศ กวดขันให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะเป็นพิเศษ รวมทั้งดูแลบุตรหลานมิให้ขับขี่รถด้วยความคึกคะนอง หากพบผู้มีอาการเมาแล้วขับจะกักตัวไว้ และดำเนินคดีกับผู้ปกครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการควบคุมการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับในกลุ่มเยาวชน ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต กวดขันร้านค้าให้งดจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และควบคุมการจำหน่ายสุราในช่วงเวลา ๑๑.๐๐ — ๑๔.๐๐ น. และ เวลา ๑๗.๐๐ — ๒๔.๐๐ น. รวมทั้งห้ามจำหน่ายสุรา ในสถานีบริการน้ำมัน และบริเวณวัดโดยเด็ดขาด ตลอดจนขอเตือนผู้ที่จะไปเฉลิมฉลองในคืนวันส่งท้ายปีเก่า ในคืนนี้ หากดื่มสุรา ห้ามขับรถด้วยตนเอง ให้เพื่อนที่ไม่ดื่มขับแทน หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจะปลอดภัยมากกว่า หากตรวจพบว่า เมาแล้วขับ ถูกจำคุก ๑ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ — ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ถูกจำคุก ๓ — ๑๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐ -๒๐๐,๐๐๐ บาท ที่สำคัญ ขอเตือนประชาชนที่เดินทางในช่วงกลางคืน และบริเวณที่มีหมอกลงจัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะเป็นพิเศษ เนื่องจากทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี จึงเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มากขึ้น สุดท้ายนี้ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปลอดภัยทางถนน และใช้เทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ในสังคมไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ