วันที่หกของการรณรงค์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ๓๕ คน รวม ๖ วัน ๓๓๕ คน

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2009 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ (วันที่ ๔ ม.ค. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓๘๘ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๓๕ คน ผู้บาดเจ็บ ๔๑๔ รวมสะสม ๖วัน (๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๔ ม.ค.๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๕๔๙ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๓๓๕ คน ผู้บาดเจ็บ ๓,๘๑๐ คน พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเฝ้าระวัง การกระทำผิดกฎจราจรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขับรถเร็ว ง่วง เมาแล้วขับ เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ วันที่ ๕ ม.ค. ๕๒ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๔ ม.ค. ๕๒ ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ช่วง ๗ วันระวังอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม ๓๘๘ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๔๙๔ ครั้ง) ๑๐๖ ครั้ง ร้อยละ ๒๑.๔๖ ผู้เสียชีวิต ๓๕ คน มากกว่าปี ๕๑ (๓๓ คน) ๒ คน ร้อยละ ๖.๐๖ ผู้บาดเจ็บ ๔๑๔ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๕๓๐ คน) ๑๑๖ คน ร้อยละ ๒๑.๘๙ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ ๒๘.๓๕ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๔.๗๔ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๐.๖๖ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๖๓.๙๒ บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๔๐.๗๒ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๖๓.๔๐ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๑.๔๔ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า ๒๕ ปีร้อยละ ๔๓.๘๗ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี ๒๒ ครั้ง รองลงมา ตรัง ๑๕ ครั้ง เพชรบุรี ๑๔ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๖ คน รองลงมา เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยาจังหวัดละ ๓ คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี ๒๓ คน รองลงมา จันทบุรี ๑๗ คน โดยได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๒,๙๕๑ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๗๗,๓๔๘ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๗๗๘,๑๘๕ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ร. รวม ๖๑,๐๕๒ ราย ไม่มีใบขับขี่ ๒๑,๒๙๘ ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๙,๕๙๑ ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ๖ วัน (๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๔ ม.ค. ๕๒) รวม ๓,๕๔๙ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๑๒๑ ครั้ง) ๕๗๒ ครั้ง ร้อยละ ๑๓.๘๘ ผู้เสียชีวิตสะสมรวม ๓๓๕ คน น้อยกว่าปี ๕๑(๓๖๙ คน) ๓๔ คน ร้อยละ ๙.๒๑ ผู้บาดเจ็บสะสมรวม ๓,๘๑๐ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๕๑๔ คน) ๗๐๔ คน ร้อยละ ๑๕.๖๐ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ เชียงราย ๑๐๙ ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ยโสธร จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๒๑ คน รองลงมา นครราชสีมา นครสวรรค์ จังหวัดละ ๑๓ ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต มี ๘ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สกลนคร นครพนม แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี กระบี่ ระนอง และนราธิวาส จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ๑๒๙ คน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้คาดว่าจะยังคงมีประชาชนเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ด่านตรวจร่วม ประจำจุดให้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกระทำผิดมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ ร. หากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีในอัตราโทษขั้นสูงสุด เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงและป้องปรามการกระทำผิดที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง โดยให้เรียกตรวจเพิ่ม มากขึ้น เน้นรถโดยสารสาธารณะที่ใกล้เดินทางถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อป้องกันผู้ขับรถที่มีอาการอ่อนล้า ง่วงนอนจากการขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานาน โดยให้สังเกตอาการของผู้ขับรถเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ประกอบกับสถิติอุบัติเหตุเริ่มลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจเยี่ยมจุดตรวจ ด่านตรวจ เพื่อสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ได้แสดงความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับ จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดรถรับ — ส่งประชาชนในการเดินทางกลับ ซึ่งจังหวัดได้รายงานว่าปีนี้ไม่มีปัญหาตกค้างของผู้โดยสารตามสถานีขนส่ง เนื่องจากได้จัดรถโดยสารรับ — ส่งประชาชนตามสถานีไปยังจุดหมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว และประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวกำชับ เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจให้เฝ้าระวังเรื่องการขับรถเร็ว เนื่องจากสภาพการจราจรเริ่มคล่องตัวแล้ว อาจทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น รวมถึงการง่วงแล้วขับของผู้ขับขี่ ส่วนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ร่วมสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ร่วมใช้เส้นทาง หากพบอาการผิดปกติ เช่น ขับส่ายไปมา แซงกระชั้นชิด เป็นต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ เพื่อดำเนินการเรียกตรวจ และสกัดมิให้เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ