ทำไมการเสียชีวิตจากอัคคีภัยครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 6, 2009 09:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ตามที่เกิดอัคคีภัยในอาคารสาธารณะบางแห่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา คุณกิตติ สุขุตมตันติ ประชาสัมพันธ์ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย (www.TIEAThai.org) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ที่น่าเสียใจ เพราะมีคนเสียชีวิตหลายคน แต่ยังไม่ใช่โศกนาฏกรรมครั้งสุดท้าย และ จะยังคงมีคนเสียชีวิตอีกหลาย ๆ คนในอนาคต เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจความปลอดภัย และ อาคารส่วนใหญ่ในเมืองไทย มีความปลอดภัยไม่เพียงพอ ไม่ผ่านตามมาตรฐานไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน ซึ่งแม้จะมีกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับกำหนดให้ต้องมีโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน และ ในประเทศไทยมีมาตรฐานใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน อาคารส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 99 ไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าว และ เจ้าของอาคารก็ไม่สนใจ รูปที่ 1 ตัวอย่างป้ายทางออก ที่ถูกต้องตามมาตรฐาน วสท. 2004-2551 ใช้ติดตั้งบอกทางออกไปสู่ทางหนีภัยที่ใกล้ที่สุด อาคารต่าง ๆ ที่เป็นอาคารสาธารณะ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ โรงแรม โรงพยาบาล สำนักงาน โรงเรียน โรงงาน โรงภาพยนต์ ฯลฯ ต้องติดตั้ง ป้ายทางออก เพื่อใช้บอกทางออกไปสู่ทางหนีภัยที่ใกล้ที่สุด ซึ่งจะติดตั้งคู่กับ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ที่หากไฟดับ ต้องให้ไฟส่องสว่างให้เห็นทางเดินสว่างไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ ตลอดกึ่งกลางตลอดเส้นทางการหนีภัย เพื่อให้คนสามารถมองเห็นทาง และ อพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุดในกรณีเกิดเหตุ เช่น อัคคีภัย แผ่นดินไหว มิฉะนั้นแล้ว หากเกิดเหตุเช่น ไฟไหม้ คนจะไม่สามารถออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยโดยเร็ว ก็จะทำให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเสียชีวิตในอาคาร ดังนั้นระบบดังกล่าวจึงถือเป็นระบบพื้นฐานของความปลอดภัยของอาคาร มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน ที่เรียกชื่อรหัสย่อว่า มาตรฐาน ว.ส.ท. 2004-2551 ฉบับที่ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยล่าสุดในปี พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้อาคารต้องติดตั้งโคมไฟป้ายทางออก ตามรูปแบบสัญลักษณ์ตามมาตรฐาน คือ เป็นสัญลักษณ์รูปภาพ คนวิ่งผ่านประตู พร้อมด้วยลูกศรขนาดใหญ่ตามมาตรฐาน ISO ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์รูปภาพสากล ที่คนเดินทางไปพักในโรงแรม ไปใช้บริการอาคารสาธารณะ ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ที่ไหนในโลก ก็จะเห็นสัญลักษณ์เหมือนกันทั่วโลก เห็นแล้วเข้าใจได้ โดยไม่ยึดติดกับภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ป้ายทางออกที่ถูกต้อง ต้องเป็นสัญลักษณ์รูปภาพสีเขียวตัดกับสีขาว ตามตัวอย่างในรูปที่ 1 ห้ามใช้สีแดง เพราะการวิจัยพบว่า ตามนุษย์จะไวต่อการเห็นสีเขียวในที่มืดได้ง่ายที่สุด ( จึงไม่ใช้สีแดง เพราะเห็นได้ยากในความมืด ) และ มาตรฐานกำหนดให้เป็นโคมไฟป้ายทางออก ที่ต้องส่องสว่างตลอดเวลาที่มีคนใช้งานอาคาร ( ห้ามใช้ป้าย แบบไม่สว่าง หรือ แบบประหยัดพลังงาน ที่พอเกิดเหตุไฟไหม้แล้ว เดี๋ยวรอพระเจ้ามาเปิดสวิตช์ไฟให้สว่าง ) รูปที่ 2 ตัวอย่างป้ายทางออก ที่ผิดมาตรฐาน และห้ามใช้ แต่ยังพบว่ามีการติดตั้งหลายแห่งในประเทศไทย การติดตั้งป้ายทางออกดังกล่าว มาตรฐานกำหนดให้ต้องติดตั้งป้าย ทุกระยะไม่เกิน 24 เมตร หากเลือกใช้ป้ายที่มีสัญลักษณ์สูง 10 เซนติเมตร (หากวัดถึงขอบป้ายอาจวัดได้ว่าป้ายสูง 15 เซนติเมตร) เพราะหากติดตั้งห่างเกินกว่า 24 เมตรแล้ว การวิจัยพบว่าจะมองเห็นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเกิดควันไฟบังแล้วอาจยิ่งมองไม่เห็นได้ จึงไม่ปลอดภัย การตรวจสอบด้วยตาได้ง่าย ๆ ว่าอาคารสาธารณะที่ท่านเข้าไปใช้บริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ โรงแรม โรงพยาบาล สำนักงาน โรงเรียน โรงงาน โรงภาพยนต์ ฯลฯ นั้นได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานได้ตามมาตรฐานหรือไม่ โดยตรวจสอบอย่างง่ายที่สุด คือ เมื่อท่านเข้าไปใช้ในอาคารสาธารณะใด ๆ เมื่อเหลียวซ้าย แลขวา หันไปรอบตัวแล้ว จะต้องสามารถเห็น โคมไฟป้ายทางออก ที่มีสัญลักษณ์รูปถูกต้องตามมาตรฐาน ภายในระยะไม่เกิน 24 เมตร จากจุดที่ท่านมองได้ชัดเจน อย่างน้อย 1 โคมไฟป้ายทางออก ถ้าหากอาคารใดท่านไม่สามารถมองเห็นโคมไฟป้ายทางออกได้ภายในระยะ 24 เมตรแล้ว แสดงว่าอาคารนั้นไม่ได้มีการติดตั้งโคมไฟป้ายทางออกให้มีจำนวนเพียงพอตามมาตรฐาน และ แสดงว่าเจ้าของอาคารดังกล่าวก็ไม่ได้สนใจความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร นอกจากการติดตั้งป้ายทางออกในระดับบน เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายในการเดินอพยพจากภัย ซึ่งมาตรฐานได้กำหนดให้ต้องติดตั้งเหนือประตูทางออกและตลอดเส้นทางหนีภัยแล้ว มาตรฐานยังแนะนำให้อาคารที่มีความพร้อม ทำการติดตั้งป้ายทางออกเพิ่ม คือ ป้ายที่ติดตั้งในระดับต่ำ หรือ ป้ายทางออกฝังพื้น สำหรับใช้มองเห็นในกรณีที่ต้องคลานหากมีควันไฟบังป้ายด้านบน รูปที่ 3 ตัวอย่างการติดตั้งโคมไฟป้ายทางออกในระดับบน ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำตามมาตรฐาน และป้ายเสริมที่แนะนำให้ติดตั้งเพิ่มถ้าพร้อม เช่น ป้ายในระดับล่าง หรือ ป้ายฝังพื้น แม้จะเกิดเหตุอัคคีภัยครั้งแล้ว ครั้งเล่า อาคารสาธารณะทั้งหลาย ทั้งอาคารเอกชนและอาคารราชการ ก็ไม่สนใจติดตั้งป้ายทางออกฉุกเฉินตามมาตรฐาน แม้ว่า โคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉินมีราคาแค่ชุดละ สองพันกว่าบาท แต่เจ้าของอาคารจะบอกว่าไม่มีงบประมาณติดตั้ง แต่สามารถมีงบประมาณซื้อวัสดุตกแต่งอาคารเพื่อความสวยงาม ซื้อผ้าม่าน ซื้อพรม หรือ ซื้ออุปกรณ์เพื่อความสบาย เช่น เครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ ในราคาหลายแสน หลายล้านบาทได้ แต่ไม่มีงบประมาณติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยพื้นฐาน เช่น ป้ายทางออก ดังนั้นเหตุอัคคีภัยในอาคารสาธารณะบางแห่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาจึงยังไม่ใช่โศกนาฏกรรมครั้งสุดท้าย และ จะยังคงมีคนเสียชีวิตจากอัคคีภัยอีกแน่นอน ในอนาคตหากคนที่เกี่ยวข้องไม่สนใจในความปลอดภัย ซึ่งความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน กล่าวคือ หน้าที่สำหรับเจ้าของอาคาร คือ จะต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน ตามมาตรฐาน ว.ส.ท. 2004-2551 แล้วประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้อาคารได้ทราบว่าอาคารนี้ปลอดภัยตามมาตรฐานแล้ว และกำกับดูแล ให้พนักงานดูแลอาคารหมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉินที่พร้อมใช้งาน มีแบตเตอรี่ที่พร้อมใช้งานได้ยามฉุกเฉิน โดยต้องมีการตรวจสอบบำรุงรักษาแบตเตอรี่ทุก 3 เดือน หน้าที่สำหรับบริษัทรับประกันภัยอาคาร คือ อาคารใดที่ไม่ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน ตามมาตรฐาน ควรต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัย ส่วนอาคารที่ติดตั้งได้ตามมาตรฐานก็ควรลดเบี้ยประกันภัย หน้าที่สำหรับราชการ คือ ต้องให้ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร และ ผู้อนุญาตให้ใช้อาคาร ว่าสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร คือ ถ้าหากอาคารนั้นเกิดอัคคีภัย ได้มีการติดตั้งโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉินที่บอกทางไปยังทางออก และมีไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินให้คนเห็นทางหนีภัยออกจากอาคารพร้อมใช้งานได้สมบูรณ์ เพื่อให้อพยพคนหนีภัยออกจากอาคารให้เร็วที่สุดได้อย่างปลอดภัยต่อชีวิตคนผู้ใช้อาคาร หากอาคารสาธารณะใดไม่มีระบบดังกล่าวพร้อมใช้งานได้สมบูรณ์ ก็ไม่ควรตรวจอาคารดังกล่าวให้ผ่านความปลอดภัย และ ไม่ควรอนุญาตให้เปิดใช้อาคารสาธารณะดังกล่าวได้ หน้าที่สำหรับสื่อมวลชน คือ ต้องเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนรู้จักป้ายทางออกตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อาคารสาธารณะและ หน้าที่สำหรับประชาชน คือ โปรดช่วยกันเผยแพร่ส่งต่อความรู้นี้ให้คนที่เรารัก ให้มีความปลอดภัยในการใช้อาคารสาธารณะ ให้รู้จักหมั่นสังเกตป้ายทางออกทุกครั้งที่เข้าไปใช้ในอาคารสาธารณะ เพื่อให้รู้ว่าหากเกิดไฟไหม้แล้วควรจะหนีไปทางไหนจึงจะใกล้และเร็วที่สุด และ ช่วยกันรักษาสิทธิของประชาชนในการกระตุ้นให้เจ้าของอาคารต้องสนใจความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการอาคารสาธารณะ หากอาคารสาธารณะ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ โรงแรม โรงพยาบาล สำนักงาน โรงเรียน โรงงาน โรงภาพยนต์ ฯลฯ หากอาคารสาธารณะใด ๆ ไม่ปรับปรุงอาคารให้มีระบบความปลอดภัยพื้นฐาน โดยการติดตั้งโคมไฟป้ายทางออกและไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินตามมาตรฐานแล้ว ประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็ไม่ควรเสี่ยงเอาชีวิตของตนไปใช้บริการในอาคารดังกล่าว และ โปรดอย่าอุดหนุนหรือสนับสนุนการใช้บริการในอาคารที่เจ้าของอาคารไม่สนใจความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย (www.TIEAThai.org) โทรศัพท์ 0-2935-6905 โทรสาร 0-2935-6569 E-mail : TIEA_association@hotmail.com และ หากต้องการเอกสาร มาตรฐาน ว.ส.ท. 2004-2551 มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน โปรดติดต่อ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (www.EIT.or.th) โทร 0-2319-2410-3 โทรสาร 0-2319-2710-11 E-mail: eit@eit.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ