กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โชว์เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและการจัดสวนหย่อมต้นไม้กินแมลง ในฐานมหัศจรรย์พรรณพืช เนื่องในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2552 ซึ่ง วท. จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้นักเรียนและประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2552 ณ ลานด้านหน้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานบนถนนโยธี พระรามที่ 6
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่ วว. นำมาร่วมจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น จะอยู่ในรูปแบบการจัดโชว์ขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และการสาธิต/ฝึกปฏิบัติทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบง่ายๆ จากพืชหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กุหลาบ สับปะรด ดาหลา ฟิลโลเดดอน ฯลฯ ซึ่งน้องๆ และผู้เข้าเยี่ยมชมบูธจะได้ฝึกทักษะการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยตนเอง นับเป็นการปลูกฝังความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชนั้น จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้หลายแขนง เช่น รูปร่างลักษณะของพืชแต่ละชนิด จุลินทรีย์คืออะไร ฮอร์โมนคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับการเจริญเติบโตของพืช วิธีปฏิบัติในห้องปฏิบัติการและการใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับไฮไลท์ในฐานมหัศจรรย์พรรณพืช วว. ในครั้งนี้ จะมีการจัดแสดงสวนหย่อม “ต้นไม้กินแมลง” เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง กาบหอยแครง หยาดน้ำค้าง กระเป๋าจิงโจ้ สร้อยสุวรรณา และดุสิตา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในป่าธรรมชาตินับเป็นพืชหายากและมีจำนวนลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการเก็บของป่า หากเด็กมีโอกาสเห็นพืชดังกล่าวซึ่งมีความสวยงามตามธรรมชาติแล้วยังสามารถกินแมลงได้ อันเป็นความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กันด้วย
อนึ่ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นการเพาะเลี้ยงพืชโดยมีการควบคุมให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อ เพื่อขยายพันธุ์พืชให้ได้ปริมาณมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนั้นยังเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การปรับปรุงพันธุ์พืช การศึกษาสรีรวิทยาพืช รวมทั้งการตัดต่อพันธุกรรมพืช ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจะมีการนำฮอร์โมนพืชและสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิดต่างๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเพาะเลี้ยง เพื่อกระตุ้นให้ชิ้นส่วนพืชสามารถเจริญเติบโตเป็นพืชต้นเล็กๆ ในปริมาณมากๆ และเจริญต่อไปจนกลายเป็นต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง มีรากพร้อมที่จะนำไปปลูกได้ในกระถางหรือโรงเรียนเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมการเกษตร นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นงานอดิเรก โดยดัดแปลงและใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในครัวเรือน เช่น ตู้ปลา เตา ลังถึง มาใช้แทนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่มีราคาสูงและยังสามารถดัดแปลงใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียน สนับสนุนการศึกษาในด้านชีววิทยา ทำให้นักเรียนเข้าใจวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอน และเป็นการสร้างสรรค์ให้เด็กเติบโตเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต มีการทดลอง การสังเกต จดบันทึก การวิเคราะห์และสรุปผล
สนใจเรียนรู้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. (นายอิทธิฤทธิ์ อึ้งวิเชียร หรือ นางสมนึก ชัยดรุณ) โทร. 0 2577 9000 โทรสาร. 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th