กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ วันที่ ๕ ม.ค. ๕๒ เกิดอุบัติเหตุรวม ๒๗๕ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๓๒ คน ผู้บาดเจ็บ ๒๙๗ รวม ๗ วัน (๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๕ ม.ค.๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๘๒๔ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๓๖๗ คน ผู้บาดเจ็บ ๔,๑๐๗ คน โดย ศปถ. รับเป็นเจ้าภาพหลักในการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนำสถิติอุบัติเหตุไปวางแผนป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาการกระทำผิดกฎจราจร โดยบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ดำเนินคดีขั้นสูงสุด ตลอดจนประสาน อปท. ร่วมป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถของเด็กและเยาวชน
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนคนที่ ๑ ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ วันที่ ๖ ม.ค. ๕๒ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๕ ม.ค. ๕๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ช่วง ๗ วันระวังอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม ๒๗๕ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๓๕๔ครั้ง) ๗๙ ครั้ง ร้อยละ ๒๒.๓๒ ผู้เสียชีวิต ๓๒ คน เท่ากับปี ๕๑ (๓๒ คน) ผู้บาดเจ็บ ๒๙๗ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๓๘๙คน) ๙๒ คน ร้อยละ ๒๓.๖๕ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๗.๖๔ เมาสุรา ร้อยละ ๒๓.๒๗ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๔.๘๙ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๕๔.๙๑ บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๘.๕๕ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๖๕.๔๕ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๔.๑๘ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ ๒๕ — ๔๙ ปี) ร้อยละ ๔๘.๙๔ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ๑๘ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ๔ คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ๓๓ คน โดยได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๒,๙๔๓ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๗๗,๕๘๗ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๕๙๓,๐๑๕ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ร. รวม ๖๑,๐๕๒ ราย ไม่มีใบขับขี่ ๑๗,๒๔๕ ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๕,๐๒๓ ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนน ๗ วัน (วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๑ — ๕ ม.ค. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๘๒๔ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๔๗๕ครั้ง) ๖๕๑ ครั้ง ร้อยละ ๑๔.๕๕ ผู้เสียชีวิตรวม ๓๖๗ คน น้อยกว่าปี ๕๑(๔๐๑ คน) ๓๔ คน ร้อยละ ๘.๔๘ ผู้บาดเจ็บรวม ๔,๑๐๗ คน น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๙๐๓ คน) ๗๙๖ คน ร้อยละ ๑๖.๒๓ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุรวมสูงสูด ได้แก่ เชียงราย ๑๑๘ ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ยโสธร จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๒๑ คน จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต มี ๗ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สกลนคร นครพนม แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี กระบี่ และระนอง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๑๓๖ คน ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนตลอดช่วง ๗ วันระวังอันตราย พบว่า สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยง เกิดจากการเมาแล้วขับ ร้อยละ ๔๑.๐๖ โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ ๘๔.๒๓ และเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี เป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดถึงร้อยละ ๔๓.๘๘ ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเส้นทางตรง ร้อยละ ๕๗.๗๔ บนถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดินในเขตชุมชน หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๔.๑๕ และ ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๓.๗๕ ช่วงกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ ๖๗.๓๔
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ศปถ. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ มาวิเคราะห์ ประมวลหาสาเหตุ เพื่อนำไปใช้วางแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีที่พบว่ายังมีผู้กระทำผิดกฎจราจรจำนวนมาก จะประสานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินคดีในอัตราโทษขั้นสูงสุด หากผู้กระทำผิดกฎจราจรเป็นเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อป้องปรามและควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถของเด็กและเยาวชน โดยเร่งฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่พบว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นการเมาแล้วขับ ศปถ.จะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันการจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของร้านค้าให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากสภาพความบกพร่องของเส้นทาง จะประสานให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงแก้บริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะทางร่วม ทางแยก ระหว่างทางหลวงแผ่นดินกับถนนทางหลวงชนบท ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ ของจังหวัด และจุดตรวจร่วมบนเส้นทางต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ตัวเลขสถิติอุบัติเหตุทางถนน ในเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มต้นเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๒ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย