กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--บลจ. กรุงไทย
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3 เดือน 6 (KTSUP3M6 ) และ กองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 6 เดือน คุ้มครองเงินต้น 4 (KTFIX6M4) เสนอขายในวันที่ 7-13 มกราคม 2552
โดยกองทุนKTSUP3M6 เป็นกองทุนที่มีอายุโครงการ 3 เดือน มูลค่า 1,800 ล้านบาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูง ได้รับการจัดอันดับตั้งแต่ A- ขึ้นไป และลงทุนในเงินฝาก / ตราสารการเงินสถาบันการเงิน โดยกองทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารดังนี้ ลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด(ไทย) จำกัด (มหาชน) 20% ตั๋วแลกเงินของธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารเกียรตินาคิน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และบมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ บริษัทละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่งผลให้กองทุนมีผลตอบแทนประมาณการที่ 1.90% ต่อปี
ส่วนกองทุนKTFIX6M4 อายุโครงการ 6 เดือน เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับความคุ้มครองโดยสถาบันประกันเงินฝาก โดยกองทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารดังนี้ ลงทุนพันธบัตรภาครัฐในประเทศ 56% เงินฝาก/บัตรเงินฝากของธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารสินเอเซีย 44% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยกองทุนจะมีผลตอบแทนประมาณการที่ 1.30% ต่อปี
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 2-8 bp มาอยู่ที่ 1.90-2.08% เนื่องจากความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความปลอดภัยจากความเสี่ยงด้านเครดิตยังมีอยู่ค่อนข้างสูงทั้งจากพอร์ตของกองทุนตราสารหนี้และสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าในการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 14 มกราคม นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% - 1.00% จากปัจจุบันที่อยู่ในอัตรา 2.75%
ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ 3 อันดับแรก (A- ขึ้นไป) มีผู้เสนออัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากตลาดยังกังวลถึงผลกระทบต่อคุณภาพเครดิตที่ได้รับผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดจำหน่าย 2 กองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน โดยหากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ ก็อาจพิจารณาเลือกการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ และหากผู้ลงทุนที่ต้องการโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนพันธบัตรภาครัฐ อาจจะพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารนี้ภาคเอกชน โดยการลงทุนในกองทุนดังกล่าวจะไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%