กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
SPPT แจงพนักงานที่มีข่าวถูกเลิกจ้างเป็น พนง.ที่จ้างผ่านบริษัท Subcontract จำนวน 200 คน พร้อมยืนยันจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดแล้วทุกประการ แม้ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบโดยตรง ระบุบริษัทฯตระหนักดีในเรื่องของการเป็นบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาล โดยยึดทั้งหลักกฎหมายและความชอบธรรม แต่ในเวลาเดียวกันจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย
นายประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ รองประธานกรรมการ บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) หรือ SPPT กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเรื่องการเลิกจ้างพนักงานผ่านสื่อมวลชนหลายสาขาในช่วงที่ผ่านมาของ บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) หรือ SPPT นั้น บริษัทขอชี้แจงว่า พนักงานที่มีข่าวว่าถูกเลิกจ้างจำนวน 300 คน ข้อเท็จจริงคือ พนักงานทั้งหมดไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทฯ แต่เป็นพนักงานของบริษัท ผู้รับเหมาช่วง(Sub-contract) จาก 4 บริษัทโดย SPPT ได้ทำก ารส่งคืนพนักงานของบริษัท ผู้รับเหมาช่วง(Subcontract) จำนวน 200 คน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มหรือลดตามสภาพของการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนั้น SPPT ยังได้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยทุกอย่างตามที่กฎหมายกำหนดโดยผ่านบริษัท ผู้รับเหมาช่วง(Subcontract) ทั้ง 4 บริษัท ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ความรับผิดชอบดังกล่าวเป็นภาระของบริษัท ผู้รับเหมาช่วง(Subcontract) ทั้ง 4 บริษัท แต่เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม และเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสำหรับพนักงานเหล่านั้น SPPT จึงยินดีจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวแทนบริษัทผู้รับเหมาช่วงดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯจะทำการตรวจสอบต่อไปว่า บริษัทผู้รับเหมาช่วง ทั้ง 4 บริษัท ได้ทำการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับพนักงานดังกล่าวตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับบริษัท SPPT หรือไม่
"การเลิกจ้างพนักงานที่เป็น Subcontract ทั้งหมด เป็นความจำเป็นเพราะออเดอร์ลดลงทำให้ต้องปรับแรงงานให้สอดคล้องกับงานที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการจ้างงานพนักงานที่ เป็นSubcontract แต่หลังจากที่เราส่งคืนพนักงานให้กับบริษัทผู้รับเหมาช่วงแล้ว ก็ได้จ่ายชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการผ่านบริษัทผู้รับเหมาช่วงทั้ง 4 บริษัท คือ พนักงานที่มีอายุงานต่ำกว่า 120 วันจะจ่ายเป็นค่าบอกกล่าวเลิกจ้างกะทันหัน ส่วนผู้ที่มีอายุงานเกิน 120 วันก็จะจ่ายทั้งค่าบอกกล่าวเลิกจ้างกะทันหัน และค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด"
นายประพจน์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯตระหนักดีในเรื่องของการเป็นบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นการดำเนินการทุกอย่างจึงต้องปฎิบัติโดยยึดหลักกฎหมายและความชอบธรรม แต่อย่างไรก็ดี บริษัทฯ จำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไปในเวลาเดียวกันด้วย