สนช. จับมือไอทีซี หนุนส่งออกเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ยุโรป

ข่าวทั่วไป Thursday August 31, 2006 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สนช.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในการเสนอแผนปฏิบัติการระดับชาติ 7 ด้านเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์สู่สหภาพยุโรป ซึ่งกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการทั้ง 7 ข้อนั้น ได้แก่ การขยายฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ การเพิ่มขีดความสามารถและปรับปรุงโครงสร้างของระบบควบคุมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การให้ความสำคัญกับการวิจัยเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงและยกระดับงานบริการทั้งด้านฝึกอบรมและงานส่งเสริมสำหรับเกษตรกร การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ การขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ และการทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเชื่อมต่อวาระแห่งชาติด้านเกษตรอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการขึ้นทะเบียนอยู่ใน Third Countries list ของสหภาพยุโรป ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าว จะช่วยให้ระบบส่งออกเกษตรอินทรีย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะยิ่งช่วยกระตุ้นตลาดการส่งออกอีกด้วย
ปัจจุบันตลาดของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในสหภาพยุโรปมีมูลค่าประมาณ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึงร้อยละ 145 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่อุปสรรคสำคัญของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ คือ กฎระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของสหภาพยุโรปที่มีความเข้มงวดมาก
ดร. ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวในการประชุมระดมความคิดเห็น “การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย” ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมหนุนแผนปฏิบัติการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งเกษตรอินทรีย์นั้นมีหลักคิดที่สอดคล้องตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” หากมีการดำเนินการเชิงบูรณาการด้านเกษตรอินทรีย์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยหันมาทำเกษตรอินทรีย์โดยอาศัยองค์ความรู้มากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางสหภาพยุโรปและ ITC สำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ในการทำให้ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผู้บริโภคในสหภาพยุโรปเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากประเทศไทย
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. เสริมว่า ศักยภาพในการส่งออกเกษตรอินทรีย์สู่สหภาพยุโรปค่อนข้างสูง ดังนั้น สนช. จึงพร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ทั้งสารสกัดจากพืช และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ไม่ใช่อาหารให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านเกษตรอินทรีย์
คณะทำงานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์จาก ITC ได้ดำเนินการฝึกอบรมด้านกฎระเบียบสำหรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และได้ทำการรวบรวมคู่มือการส่งออกไว้สำหรับผู้สนใจ ซึ่งคู่มือดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกรมส่งเสริมการส่งออก
งบประมาณในการดำเนินโครงการมาจากกองทุน เอเชียทรัสท์ของสหภาพยุโรป ภายใต้การดำเนินงานของ ITC ซึ่งให้การสนับสนุนในเบื้องต้น 161,267 เหรียญยูโร โดยนายอีริค เฮเบอร์ ผู้แทนจากสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปมีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยโดยเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มในส่วนของความเชื่อมั่น ซึ่งภายใต้กองทุนเอเชียทรัสท์นี้ ทางกลุ่มสหภาพยุโรปพร้อมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากประเทศไทยสู่ตลาดสหภาพยุโรป
นอกจากนี้นายเจียง ซูจุน ผู้แทนจาก ITC ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีฐานการผลิตด้านเกษตรที่ค่อนข้างเข้มแข็งในระดับภูมิภาค จึงน่าจะเป็นผู้นำในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแผนปฏิบัติการที่นำเสนอนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย โดย ITC มองว่าการร่วมงานกับ สนช. และ มกอช. ในโครงการนี้สามารถสร้างศักยภาพในการส่งอออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในสหภาพยุโรปได้ในอนาคตอันใกล้
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
Mr Wyn Ellis Kunawut Boonyanopakun
National Team Leader National Innovation Agency
Tel: 01 835 7380 Tel: 02 644 6000
Email: wyn@nia.or.th Email: kunawut@nia.or.th
คุณอาศยา ศิริเอาทารย์ โทร 02-644-6000 ต่อ 123 อีเมล์: asaya@nia.or.th
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
พัชราวดี สุทธิภูล โทร 0-2655-6633 /0-1817-7094 อีเมล์: patcharawadee@apprmedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ