ไทยสบโอกาส “จีน” เจอวิกฤตความเชื่อมั่นอาหารหนัก ‘สถาบันอาหาร’ ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยชิงเค้กก้อนโต

ข่าวทั่วไป Friday January 9, 2009 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหาร แนะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยใช้โอกาสที่จีน ประสบวิกฤตความเชื่อมั่นอาหารจากทั่วโลก ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าอาหารที่จีนเคยยึดครองในตลาดหลักอาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฮ่องกง และรัสเซีย ชี้ช่องทำตลาด เลือกชนิดของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด คุมเข้มคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร เชื่อส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยในระยะยาว ทั้งการยกระดับสินค้า และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา วิกฤตความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหาร ได้ขยายวงกว้างไปแล้วทั่วโลก ภายหลังการตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นมผงจากประเทศจีน และลุกลามไปสู่การปนเปื้อนในอาหารอีกหลายชนิด ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าความเสียหายครั้งนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่ผ่านมา แม้จะมีการตรวจพบสารปนเปื้อนในอาหารนำเข้าจากจีนบ่อยครั้ง แต่หลายประเทศก็ยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนอยู่ เพราะจีนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต และมีกำลังการผลิตสินค้าสนองตอบต่อความต้องการได้อย่างไม่จำกัด ทำให้ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และบราซิล สินค้าอาหารส่งออกที่สำคัญของจีนประกอบด้วย เนื้อสัตว์ แปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักผลไม้และธัญพืช “วิกฤตความไม่เชื่อมั่นต่อสินค้าอาหารของจีน เป็นโอกาสของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าอาหารที่จีนถือครองอยู่ ปัจจุบันตลาดส่งออกอาหารสำคัญของจีนได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฮ่องกง และรัสเซีย โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่ สถาบันอาหาร มองว่ามีศักยภาพได้แก่ สินค้าอาหารทะเลแปรรูป ไก่แปรรูป ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งในญี่ปุ่น สินค้ากุ้งแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป และน้ำผลไม้กระป๋องในสหรัฐอเมริกา สินค้าปลาสดมีชีวิต ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์ในเกาหลีใต้ สินค้าเนื้อหมูแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็น ไข่ไก่ และปลาสดมีชีวิตในฮ่องกง และสินค้ากุ้งแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป ผักและน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องในรัสเซีย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการควรเลือกชนิดของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาดด้วย ตัวอย่างเช่น ตลาดญี่ปุ่นต้องการสินค้าสดใหม่ คุณภาพสูง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาต้องการสินค้าปริมาณมาก คุณภาพดีปานกลางและราคาไม่สูงมากนัก เป็นต้น” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างไม่เชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหาร จึงทำให้มีความระมัดระวังในการเลือกซื้อและการตรวจสอบสินค้าอาหารทั้งที่ผลิตขึ้นภายในประเทศและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยต้องเข้าสู่ระบบตรวจสอบที่เข้มงวดนี้ เช่นกัน จึงอาจเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนด้านการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าในส่วนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นผลเสียมากนัก เพราะเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้กับการทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารของไทยเพิ่มขึ้นแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก และที่สำคัญจะส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยทั้งในด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหารของไทย จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการควบคุมกระบวนการผลิตและตรวจสอบสินค้าให้ได้มาตรฐาน ซึ่งโรงงานผู้ผลิตอาหารอาจนำระบบ HACCP หรือการวิเคราะห์จุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาช่วยในการการันตีความปลอดภัยด้านอาหาร เนื่องจาก HACCP เป็นระบบจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้อาหารที่ปลอดภัยปราศจากอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศผู้ผลิตอาหารชั้นนำทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความเชื่อถือและนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และเมื่อถึงเวลานั้นทั่วโลกจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลกอย่างแท้จริง ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8 / 0 8 9484 9894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ