กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 24 ตุลาคม 2551 สภายุโรปเต็มคณะและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้พิจารณาและรับรองร่างระเบียบ EU ETS แล้ว และคณะผู้แทนสหรัฐฯ ประจำ EU ได้จัดประชุมกลุ่มประเทศที่สาม ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี ออสเตรเลีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย เพื่อให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมถึงการไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอเรื่องผลกระทบจากก๊าซ NOx (Oxides of Nitrogen) นอกจากนี้เป็นการยากที่จะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซ NOx เนื่องจากอัตราการแพร่กระจายจะต่างกันไปในแต่ละระดับความสูง (Altitude) อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในการลด NOx จะทำให้เกิดก๊าซ CO2 และเสียงเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่ายังไม่ควรออกกฎระเบียบมาควบคุมก๊าซนี้ อย่างไรก็ดีคณะกรรมาธิการยุโรปมีแผนที่จะออกเอกสารหารือในเรื่องดังกล่าวในช่วงเดือนธันวาคม 2551
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่สามนำโดยสหรัฐฯ ยังได้คัดค้านมาตรการฝ่ายเดียว (Unilateral Decision) ภายใต้แผนงาน ETS ตาม Directive 2001 / 87 / EC ของ EU ที่ได้กำหนดให้เครื่องบินของสายการบินระหว่างประเทศที่บินเข้า EU ต้องซื้อ Permits ภายใต้แผนงาน ETS ซึ่งทาง EU ได้แจ้งความตั้งใจในการปรับแก้คำสั่งเรื่องนี้ โดยขึ้นอยู่กับผลการเจรจาในกรอบ Post — Kyoto ซึ่งเจ้าหน้าที่ Federal Aviation Administration (FAA) ของสหรัฐฯ เห็นว่าการรวมสาขาการบิน ไว้ใน EU ETS จัดเป็นมาตรการฝ่ายเดียวของ EU เพื่อเรียกเก็บค่า CO2 Emission กับเครื่องบินต่างชาติที่บินเข้ามาใน EU นั้น ควรมีการเจรจากับประเทศต่างๆ ในการตกลงแก้ปัญหา CO2 Emission ในระดับนานาชาติร่วมกันก่อน และการแก้ปัญหา Climate Change ควรใช้แนวทางที่ครอบคลุมสมบูรณ์แบบ (Comprehensive Approach) ซึ่งทางสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ได้เคยมีหนังสือถึงเยอรมันในฐานะประธาน EU แสดงสิทธิคัดค้านต่อเรื่องนี้ไป เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2550
อธิบดีกรมการค้าต่างประทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เห็นว่ามาตรการของ EU เป็นประเด็นทางกฎหมายเรื่อง Purchasing and Permit to Fly ไม่ใช่ประเด็น ETS ซึ่งมูลค่าของผลกระทบจากมาตรการนี้ที่ทำการประเมินโดยสายการบินแห่งหนึ่งในช่วงจากปัจจุบันจนถึงปี 2563 คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 8 พันล้านยูโร และในระยะยาวอาจส่งผลกระทบให้สายการบินต่างๆ หลีกเลี่ยงเส้นทางบินผ่านยุโรปทำให้ระยะทางบินยาวขึ้นและมีการปล่อยก๊าซ CO2 มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบ ETS ของไทย
สำหรับผู้ที่มีความสนใจและที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาร่างระเบียบ Emission Trading Scheme (ETS) ของสหภาพยุโรป ได้ที่เว็บไซต์ ของสหภาพยุโรป ได้ที่เว็บไซต์ http://register.consilium.
europa.eu/pdf/en/08/st03/st03657.en08.pdf
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1385 สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ
หรือที่ www.dft.go.th หรือ โทร. 0 2547 4872 โทรสาร 0 2547 4816