กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันพุธที่ 14 มกราคม 2552 เป็นต้นไป พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 จะมีผลบังคับใช้ ภายหลังจากที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 และจะพ้นกำหนด 120 วันนับจากการประกาศในวันดังกล่าว ซึ่งในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic payment (e-Payment) ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 แต่ถ้าประสงค์จะทำธุรกิจ e-Payment ต่อไป ผู้ให้บริการจะต้องยื่นแบบแจ้งให้ทราบ หรือขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2552 ซึ่งหากพ้นจากวันที่ 13 พฤษภาคม ก็จะไม่สามารถให้บริการต่อไปได้อีก
“หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมดูแลธุรกิจดังกล่าวจากผู้ให้บริการทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา โดยผู้ให้บริการส่วนใหญ่ต่างให้ความสนใจว่าธุรกิจบริการของตนจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้หรือไม่ และในลักษณะใด” นายสือ กล่าว
ซึ่งธุรกิจ e-Payment ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ประเภท โดยมีจำนวน ผู้ให้บริการที่เข้าข่ายตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังนี้ 1.การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) มีจำนวน 25-30 ราย อาทิ ไทยสมาร์ทการ์ด ทรูมันนี่ 2.บริการเครือข่ายบัตรเครดิต ไม่มีผู้ให้บริการที่เข้าข่ายเนื่องจากมิได้จดทะเบียนในประเทศไทย 3.บริการเครือข่ายอีดีซี ปัจจุบันยังไม่มีการให้บริการ แต่คาดว่าในอนาคตจะมีการให้บริการในรูปแบบนี้ 4.บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน มีจำนวน 3 ราย อาทิ ITMX ศูนย์ประมวลผล PCC 5.บริการหักบัญชี มีจำนวน 4 ราย อาทิ TSD ศูนย์ประมวลผล PCC 6.บริการชำระดุล มีจำนวน 3 ราย อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย 7. การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผ่านเครือข่าย มีจำนวน 52 ราย อาทิ ธนาคารพาณิชย์ของไทย สาขาธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ ผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน และ 8.บริการรับชำระเงินแทน มีจำนวน 8 ราย อาทิ บจ.ไปรษณีย์ไทย AIS Pay station, Jaymart Pay point
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้มีการจัดทำบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ โดยพิจารณาจากความเหมาะสมในการป้องกันความเสียหายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจเอาไว้ 3 บัญชี เพื่อให้ผู้ให้บริการได้ทราบว่าธุรกิจของตนจะต้องดำเนินการในลักษณะใด โดยบัญชี ก เป็นธุรกิจที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ใช้ซื้อบริการจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ยกเว้นการให้บริการที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคโดยมิได้แสวงหาผลกำไร เช่น บัตรแลกซื้ออาหารในศูนย์อาหาร เป็นต้น ส่วนบัญชี ข เป็นธุรกิจบริการที่ต้องขอขึ้นทะเบียน ซึ่งได้แก่ บริการเครือข่ายบัตรเครดิต บริการเครือข่ายอีดีซี บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินระบบใดระบบหนึ่ง และการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ใช้ซื้อบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ให้บริการหลายราย ณ สถานที่ที่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการรายเดียวกัน เช่น บัตรเติมน้ำมันของบริษัทน้ำมัน
และบัญชี ค เป็นบัญชีที่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งได้แก่ บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินหลายระบบ บริการหักบัญชีบริการชำระดุล บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผ่านเครือข่าย บริการรับชำระเงินแทน และการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ใช้ซื้อบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน เช่น บัตรเงินสดของเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นต้น
“คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงไอซีที และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้มีการร่างประกาศที่ออกตามความในพระราชกฤษฎีกาฯ อีก 4 ฉบับ เพื่อรองรับกับการประกาศและบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ ตลอดจนใช้ควบคุมดูแลธุรกิจบริการ e-Payment คือ ร่างประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามบัญชี ก ที่ไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนให้บริการ ร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง นโยบายและมาตรการการรักษาความปลอดภัยทางระบบสารสนเทศในการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์” นายสือ กล่าว
สำหรับร่างประกาศทั้ง 4 ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว รวมทั้งผ่านการจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและประชาชนทั่วไป ตลอดจนการพิจารณารูปแบบและถ้อยคำจากฝ่ายกฎหมายและคดีของธนาคารแห่งประเทศไทย และได้เสนอให้คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อพิจารณา จากนั้นนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรับทราบ ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
โทร. 0 2505 7370 โทรสาร. 0 2505 7209 www.mict.go.th