กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กฟผ.
จังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แนวร่วมภาคเอกชน 7 องค์กร กาญจนบุรี สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดสัมมนา เรื่อง “วิกฤติเขื่อน หรือมายาคติ” ณ เขื่อนศรีนครินทร์ อ. ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยมี นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีสมาชิกสหพันธุ์สมาคมท่องเที่ยวไทยและผู้สนใจเข่าร่วมสัมมนา กว่า 400 คน
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เผยแพร่ข่าวสารความเข้าใจ และข้อเท็จจริง เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนและแผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความมั่นใจในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมั่นใจในด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงมาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะวัฒนาธรรม ตลอดจนอาหารการกิน
สำหรับการสัมมนาในวันนี้ (9 ม.ค.52) เริ่มจากนายวิชัย ล้อศิริ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาและสื่อมวลชน หลังจากนั้น ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักวิจัย สาขาธรณีศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นำเสนอผลงานทางวิชาการรอยเลื่อนที่มีพลังในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ว่า จุดเสี่ยงภัยที่สุดจากการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยยังปลอดภัยกว่าจุดที่ปลอดภัยที่สุดจากการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปินส์ และประเทศไต้หวัน เราไม่ควรตื่นตระหนก การเรียนรู้ ศึกษาวิจัย และติดตามพฤติกรรมของแผ่นดินไหวและพิบัติภัยที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป
นอกกจากนี้แล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวกับเขื่อน โดย ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมป์ จากศูนย์วิจัยพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เขื่อนเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่จัดอยู่ในประเภทโครงสร้างที่มีโอกาสเกิดการพิบัติต่ำแต่ก่อให้เกิดความเสียหายสูง วิศวกรจึงต้องออกแบบให้เขื่อนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยทั้งในสภาวะปกติ อุทกภัยและแผ่นดินไหว สำหรับประเทศไทยนั้น ถ้าพิจารณาตามแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามประกาศกรมทรัพยากรธรณี ปี พ.ศ. 2548 เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงภัยที่เกิดความเสียหายในระดับน้อยถึงปานกลาง และผลจากการศึกษาวิจัยผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อเขื่อนศรีนครินทร์ พบว่าเขื่อนสามารถรับแรงสั่นไหวได้สูงกว่าที่ออกแบบไว้
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ซึ่งเป็นภาคส่วนหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี สนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเรามีเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ และอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด กฟผ. มีบ้านพักรับรอง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย ตลอดจนเป็นแหล่งทัศนศึกษาทางวิชาการ ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ส่วนที่ 2 กฟผ. สนับสนุนการท่องเที่ยวปลอดภัยในจังหวัดกาญจนบุรีในประเด็นกระแสข่าวลือ เรื่อง “เขื่อนจะแตก จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว” โดย กฟผ. ขอยืนยันให้ประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรี นักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องคลายกังวล และมั่นใจว่าเขื่อนศรีนครินทร์ของ กฟผ. มีความแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย จากกรณีเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากเขื่อนมีการออกแบบ ก่อสร้าง และควบคุมการก่อสร้างด้วยมาตรฐานในระดับสากล และตลอดระยะเวลา 28 ปี กฟผ. ได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อน โดยผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลการตรวจสอบยืนยันความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมกับจังหวัดกาญจนบุรี เตรียมแผนดำเนินการหากกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติคงห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่จากการศึกษาและข้อมูลทางวิชาการพบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและขนาดที่เกิดไม่รุนแรงมากเหมือนที่เกิดในประเทศอื่น