กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ธนาคารนครหลวงไทย
ธนาคารนครหลวงไทยขยายเวลาโปรโมชั่นสินเชื่อเคหะอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ปีแรกเริ่มต้นเพียง 1.99% ต่อปี ทั้งสำหรับบ้านใหม่และรีไฟแนนซ์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มั่นใจปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท ตามแผนเชิงรุกในการเข้าถึงลูกค้าและการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการ รวมทั้งดอกเบี้ยในระบบที่มีแนวโน้มลดลงช่วยเรียกความมั่นใจทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้กับผู้กู้
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารขยายเวลาโปรโมชั่นพิเศษ “สินเชื่อเคหะนครหลวงไทย” แก่ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับบ้านใหม่ในโครงการที่ธนาคารร่วมสนับสนุนหรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือรีไฟแนนซ์ (Refinance) ดอกเบี้ยพิเศษ 2 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี เท่ากับ 1.99% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 5.50% ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ ชั้นดี (MLR) ลบ 1.00% ต่อปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 1.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ทางเลือกที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 3.75% ต่อปี ปีที่ 2 คิดอัตรา MLR ลบ 2.75% ต่อปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 1.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ส่วนลูกค้าที่ขอกู้ในโครงการทั่วไปหรือบ้านมือสอง ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่เท่ากับ 3.99% ต่อปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 0.5% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา วงเงินกู้สูงสุดถึง 95% ของราคาประเมิน ระยะเวลาการกู้สูงสุด 30 ปี โดยสามารถเลือกรับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยได้ถึงภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 เท่านั้น
“ในปี 2552 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเคหะสำหรับลูกค้ารายใหม่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเท่ากับที่ทำได้ในปี 2551 ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็จะได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับลดลงส่งผลให้ภาระการผ่อนชำระของลูกค้าลดลงด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มกำลังซื้อและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้าน ประกอบกับภาวะต้นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง รวมทั้งยังได้แรงเสริมที่เกิดขึ้นจากนโยบายการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง” นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับแนวทางการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อเคหะของธนาคารยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นไป รวมถึงการขยายความร่วมมือกับโครงการที่ธนาคารเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ในการพัฒนา (Pre Finance) ซึ่งธนาคารมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการอยู่แล้วและส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเก่าที่ดีของธนาคาร ตลอดจนการใช้สาขาของธนาคารทั้ง 408 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดให้บริการแก่ลูกค้า หรือ SCIB Touch Point รวมทั้งได้ปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น