กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กระทรวงพลังงาน
“วรรณรัตน์” มอบนโยบายพลังงาน เดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน ของ ปตท. และกฟผ. หวังเสริมแรงรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเต็มสูบ ช่วยรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตร ชี้นโยบายรักษาระดับราคา LPG จะมีความชัดเจนหลังการประชุมกพช. วันศุกร์ที่ 16 นี้ พร้อมชะลอการปรับราคา NGV ต่อ เพื่อลดรายจ่ายให้ประชาชน มั่นใจราคาน้ำมันลดไม่มีผลต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน ชี้ยอดใช้เอทานอลแตะ 1.4 ล้านลิตรต่อวัน พร้อมขยายส่วนต่าง B2 และ B5 สร้างแรงจูงใจใช้ไบโอดีเซลเพิ่มเติม ส่วน E85 เตรียมผลักดันฐานการผลิตรถยนต์ในไทย ย้ำเข้มงวดด้านความปลอดภัยการใช้พลังงาน และดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวภายหลังการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในวันนี้ (12 ม.ค.2552) ว่า กระทรวงพลังงาน นับเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีภารกิจในการดำเนินการบรรเทาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันให้แก่ประชาชน รวมทั้งจะเป็นหน่วยงานที่จะผลักดันการลงทุนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนในรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. และกฟผ. อาทิ โครงการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ซึ่งคาดว่าจะมาเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาจากราคาที่สูงขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการกำกับดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมนั้น กระทรวงพลังงานยังคงยืนยันที่จะชะลอการปรับราคา NGV ออกไป เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ NGV และลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้มนั้น จะมีความชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กพช.) ในวันศุกร์ที่ 16 ม.ค.นี้ ที่จะมีการพิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้นราคาหรือไม่
สำหรับการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อให้เป็นวาระแห่งชาตินั้น กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าเต็มตัวในการส่งเสริมเอทานอล และไบโอดีเซล เพื่อให้เป็นพลังงานของคนไทย โดยกำหนดเป้าหมายในการใช้เอทานอล ให้ได้ 1.4 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2552 นี้ ส่วนการส่งเสริม E85 นั้น จะสนับสนุนการเปิดไลน์การผลิตรถยนต์ E85 ในประเทศ รวมทั้งการผลักดันให้มีการผลิตและใช้ไบโอดีเซล B100 ให้ได้ 1.8 ล้านลิตรต่อวันในปี 2552 และเตรียมประกาศใช้ B5 ทั่วประเทศในปี 2554 ต่อไป นอกจากนี้ จะมีการศึกษาและพิจารณาการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาให้รถยนต์เก่าสามารถใช้น้ำมัน E20 และ E85 และสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้น้ำมัน B10 ได้
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเริ่มศึกษาการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้า โดยจะขอให้กฟผ. คัดเลือกโรงไฟฟ้านำร่อง 3 ประเภท ประเภทละ 1 โรง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อดำเนินการศึกษาถึงแนวทางการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะได้ใช้เป็นฐานข้อมูลของการพัฒนาต่อไปในอนาคต