กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ เครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจมีอุปสรรคจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ลักษณะทั่วไปของฐานลูกค้าเป้าหมายในระดับล่าง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลง ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจนำไปสู่ความยากลำบากในการขยายสินเชื่อ การแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น และการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและสามารถขยายสินเชื่อรถจักรยานยนต์ได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ส่งผลให้บริษัทฐิติกร สามารถดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมานานกว่า 20 ปีต่อเนื่องกันด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของลูกค้าใหม่มากกว่า 30% บริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัทลูก 2 แห่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ บริษัท ซี.วี.เอ. จำกัด ในปี 2538 และ บริษัท ชยภาค จำกัด ในปี 2546 ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างทุนโดยการเพิ่มทุนใหม่และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2546 สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4,284 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 5,631 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ณ กลางปี 2549 สินเชื่อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมีสัดส่วน 78% ของสินเชื่อรวม
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สินเชื่อรถจักรยานยนต์คงค้างของบริษัทฐิติกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2,800 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 4,375 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดผ่านสาขาที่เปิดใหม่มากขึ้นและจากการวางจำหน่ายรถ
จักรยานยนต์ราคาถูกซึ่งทำให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถซื้อได้ง่ายขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากผลประกอบการในส่วนของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่อ่อนตัวลงแล้ว คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสำหรับรถยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ด้วย การแข่งขันด้านราคาสำหรับสินเชื่อรถยนต์เก่ารุนแรงมากขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้หันมาให้สินเชื่อรถยนต์เก่ามากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น บริษัทจึงได้ชะลอการขยายสินเชื่อรถยนต์เก่าและหันไปเน้นการขยายสินเชื่อรถจักรยานยนต์ซึ่งให้ผล
ตอบแทนที่สูงกว่า สินเชื่อรถยนต์คงค้างของบริษัทลดลงจาก 1,483 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 1,256 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 การลดลงของสินเชื่อรถยนต์ซึ่งคิดเป็น 22% ของสินเชื่อรวม ผนวกกับการเสื่อมคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 8.6% ในปี 2546 เป็น 9.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 แม้ว่าธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จะให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน บริษัทจึงดำเนินนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง อัตราส่วนจำนวนกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญในส่วนของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ต่อสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 132% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549
การที่บริษัทฐิติกรมีจำนวนรถยึดสำหรับรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ผนวกกับราคารถจักรยานยนต์ใหม่ที่ถูกลง ส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินสำหรับรถจักรยานยนต์เก่า ราคาของรถจักรยานยนต์เก่าจึงลดลง สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดเพิ่มสูงขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการขาดทุนจากการขายรถยึดที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงต้นทุนในการลงทุนและการเปิดสาขาใหม่ในปี 2547 และ 2548 ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 11.1% ในปี 2546 เป็น 8.9% ในปี 2547 และ 6.2% ในปี 2548 แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินประเภทอื่นๆ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทฐิติกรมีสาขา 61 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ เครือข่ายสาขาของบริษัทได้เสริมศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เน้นเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่มาจากเขตภูมิภาคซึ่งคิดเป็น 40% ของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ทั้งหมด ทำให้บริษัทสามารถกระจายแหล่งรายได้ไปยังตลาดต่างจังหวัด ในปี 2546 บริษัทได้ปรับโครงสร้างเงินทุนโดยการเพิ่มทุนจาก 70 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท จากทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนเกินทุนจากภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวยในปี 2546 ส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมาก อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 12.9% ในปี 2545 เป็น 42.5% ในปี 2546 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 38.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เนื่องจากสินเชื่อใหม่ขยายตัวเร็วกว่ากำหนดเวลาสินเชื่อที่จะได้รับชำระคืน