ย้อนรำลึก… ไปรสนียาคาร

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday January 13, 2009 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--ไปรษณีย์ไทย ย้อนเวลากลับไปกว่าศตวรรษ ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง มีอาคารหลังหนึ่งตั้งเด่นตระหง่านอยู่ทางตะวันตกประกาศเกียรติภูมิแห่งกิจการไปรษณีย์อันรุ่งเรืองนับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกิจการไปรษณีย์แก่ปวงชนชาวสยาม ในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2426 สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้สำเร็จราชการไปรษณีย์ ทางราชการได้ใช้ตึกอาคารหลังใหญ่ที่เคยเป็นบ้านของพระปรีชากลการ เปิดเป็นที่ทำการกรมไปรษณีย์ ณ “ไปรสะนียาคาร” ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายและหนังสือในเขตพระนครและธนบุรี และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเขตจ่ายไปรษณีย์ โดยมีรัศมีในการทำการกระจายออกไปทั้ง 4 ด้าน ทิศเหนือ ถึงสามเสน ทิศตะวันออก ถึงสระปทุม ทิศใต้ ถึงบางคอแหลม ทิศตะวันตก ถึงตลาดพลู การเปิดที่ทำการไปรษณีย์เป็นครั้งแรก คือวันที่กรุงสยามประกาศความเป็นชาติที่ทันสมัยทัดเทียมนานอารยประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างชาติบางคนกล่าวว่า อาคารไปรสนียาคาร ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา คือ สัญลักษณ์ของความเป็นสากลในกรุงสยาม ฐานะของกรมไปรษณีย์ฯ เป็นกรมอิสระขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการไปรษณีย์เจริญก้าวหน้าและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการเปิดบริการเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพ ในปี 2426 ได้ขยายการเปิดที่ทำการเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง และในปี 2428 วันที่ 1 กรกฎาคม รัฐบาลสยามได้เข้าเป็นสมาชิกสภาพสากลไปรษณีย์ จึงทำให้กิจการไปรษณีย์ของสยาม มีฐานะทัดเทียมอารยประเทศ และสามารถให้บริการได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระราชภารกิจในตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์ ในยุคเริ่มแรก แม้ว่ามีงานมากมาย และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่พระองค์ทรงดำเนินงานด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ โดยในบางเรื่องได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย รวมถึงการทรงขอให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ถวายความช่วยเหลือในเรื่องต่างประเทศ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือยนต์พระที่นั่งมาประทับทรงงานที่อาคารไปรสนียาคารแห่งนี้ตลอดระยะ เวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2433 และทรงตระหนักดีว่า ปัจจัยสำคํญที่จะให้การไปรษณีย์ดำเนินต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ จึงได้เสนอให้มีระบบสวัสดิการ กฎหมายคุ้มครอง บุรุษไปรษณีย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ การว่าจ้างบุคลากรชาวต่างประเทศร่วมทำงานเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ การสรรหาบุคลากร/อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดตั้งโรงเรียนไปรษณีย์และโทรเลข เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2432 ด้วยตระหนักว่า กิจการไปรษณีย์เป็นกิจการที่สำคัญที่ควรดำเนินการโดยคนไทยทั้งหมด และต้องมีบุคลากรเฉพาะในด้านการปฏิบัติงานให้ทันกับการขยายตัวขององค์กร อาคารไปรสนียาคาร ต่อมาได้เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน และเปิดให้บริการทั้งไปรษณีย์ โทรเลข ณ อาคารหลังนี้จึงถึงปีพุทธศักราช 2470 แม้วันวานแห่งความรุ่งเรืองของไปรสนียาคารจะผ่านไปตามกาลเวลา หรือแม้อาคารหลังนี้จะต้องถูกทุบทำลายลง เพื่อเปิดทางให้การสร้างสะพานพระปกเกล้าเพื่อทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปีพุทธศักราช 2525 ในคราวเฉลิมพระนครรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่ถึงอย่างไรเกียรติภูมิแห่ง ไปรสนียาคาร อาคารที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย คือ จุดเริ่มต้นของการสื่อสารสาธารณะ จักยังคงอยู่ และเป็นอนุสรณ์สถานที่จารึกประวัติศาสตร์สำคัญบทหนึ่งของประเทศไทย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงกิจการไปรษณีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่คนไทยและได้เจริญคู่กับสังคมไทยมาตราบจนวันนี้ “ไปรสนียาคาร” จำลองหลังนี้ เปรียบประดุจดังอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา และการสืบสานเจตนารมณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงก่อตั้ง และสมเด็จพระราชปิตุลา พรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ อธิบดีพระองค์แรก เพื่อให้กิจการไปรษณีย์ไทยเป็นกิจการของคนไทย บริการเพื่อคนไทยตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ