กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--ไปรษณีย์ไทย
อาคารกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย เป็นอาคารแบบยุโรป ๒ ชั้นครึ่ง มีขนาดกว้าง ๒๕.๕ เมตร ยาว ๕๓.๕ เมตร ด้านหลังอาคารมีช่องว่างสำหรับที่จอดรถ สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ใกล้กับสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปเนื่องจากเป็นแนวสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ชื่อว่า “สะพานพระปกเกล้าฯ” (สร้างเสร็จใช้งานเมื่อปี ๒๕๒๗)
รูปแบบจำลองและผังของอาคารกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรกที่ได้จัดสร้างขึ้นมาตราส่วน ๑:๗๕ ก่อนการรื้อถอนอาคาร เดิมเก็บไว้ที่ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมไปรษณีย์โทรเลข ต่อมาได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน กทช. เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑
ณ เชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ในตำแหน่งที่ตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรกของประเทศไทยนั้น หลังจากที่ได้รื้อถอนอาคารออกแล้ว กรมทางหลวงชนบทได้ก่อสร้างอาคารจำลองขึ้นทดแทนเมื่อปี ๒๕๔๖ ด้วยงบประมาณ ๑๐ ล้านบาท โดยสร้างเฉพาะส่วนมุขด้านหน้าของอาคารมีความกว้าง ๒๕ เมตร มีความยาวลดลงจากเดิม ๕๓.๕ เมตร เหลือเพียง ๓.๕ เมตร เป็นอาคาร ๒ ชั้นครึ่งรูปแบบคล้ายของเดิม แต่รายละเอียดบางประการแตกต่างกัน ทั้งนี้ออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สถาปนิกชื่อดังของไทย
ภายในอาคารติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ทั้งอาคาร มีตู้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการที่ว่างเปล่า ไม่มีสิ่งของใดจัดแสดง ผนังอาคาร มีบอร์ดสำหรับติดรูปภาพ แต่ไม่มีภาพใด ๆ เป็นบอร์ดที่ว่างเปล่า อาคารจำลองแห่งนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้แต่แรกว่าจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงจุดเริ่มต้นและวิวัฒนการการสื่อสารในประเทศไทย
ในรายงานการประชุมเกี่ยวกับการสร้างอาคารจำลองดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า เห็นชอบให้อนุรักษ์มุขด้านหน้าของอาคารตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม โดยใช้ประโยชน์อาคารเป็นที่แสดงประวัติวิวัฒนาการของการไปรษณีย์โทรเลขของไทย และเป็นที่ประทับตราไปรษณียากร และให้ขนานนามอาคารนี้ว่า “ไปรสนียาคาร”
และแล้วในที่สุด ก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซม และตกแต่งใหม่เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา สำหรับแสดงประวัติศาสตร์ของการไปรษณีย์ไทย โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รับความร่วมมือจากกรมทางหลวงชนบท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) เป็ดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป