กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
เด็กไทยรักการอ่าน "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4" มาพิสูจน์ "ความรู้ทำทุกสิ่งให้เป็นจริงได้" 6-11 กรกฎาคมนี้ 10.00-20.00 น. กระหึ่ม! ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) กระตุ้นเด็กและเยาวชนไทยรักการอ่าน ส่งเสริมการเรียนรู้ และเสริมสร้างจินตนาการ ผนึกพันธมิตรภาครัฐ เอกชน จัดงาน "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4" (Book Festival for Young People 2006) ระหว่างวันที่ 6-11 กรกฎาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ความรู้ทำทุกสิ่งให้เป็นจริงได้" พบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้มากมาย อาทิ นิทรรศการผลงานที่ชนะการประกวดวาดภาพประกอบหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 6, นิทรรศการการจัดการเรียนรู้บูรณาการด้านวิธีการทางวิทยาศาสตร์, ลานกิจกรรมสนุกคิด ประดิษฐ์ศิลป์ สวนสนุกที่ทำจากกระดาษ, กิจกรรมนิทานเพื่อนรัก ฯลฯ ร่วมลุ้นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศตอบคำถามสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้
6 ก.ค.2549 / ณ เวทีเอเทรียม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การอ่านนับเป็นทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการเรียนรู้ เนื่องจากการอ่านก่อให้เกิดปัญญา ความคิด จินตนาการที่สร้างสรรค์ และยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เยาวชนจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่ต้องอาศัยทุกภาคที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไปในอนาคต ดังนั้นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงได้จัดงาน "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4" (Book Festival for Young People 2006) ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ความรู้ทำทุกสิ่งให้เป็นจริงได้" ในระหว่างวันที่ 6-11 กรกฎาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างภาพแวดล้อมให้เด็กและเยาวชนมีความสุขกับการอ่าน อันจะนำไปสู่การสร้างนิสัยถาวรให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของงานในปีนี้ จะเน้นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมความรู้ความคิดให้เกิดขึ้นกับเยาวชนเป็นหลัก เช่น การจัดการแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2549 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมทั้งจะมีการแสดงผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 6 ในรูปแบบนิทรรศการบริเวณเอเทรียม และได้มีการจัดพิมพ์โปสการ์ดภาพที่ชนะการประกวดครั้งที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่เป็นเกียรติประวัติต่อผู้ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมฯ จำหน่ายภายในงานชุดละ 50 บาท ชุดมีจำนวน 20 ภาพ
นอกจากนี้ภายในงานยังจะมีกิจกรรมและนิทรรศการที่เน้นส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซน C1 กลุ่มเด็กแรกเกิด - 8 ปี เน้นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กๆ อาทิ นิทรรศการผลงานของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, ลานกิจกรรม สนุกคิด ประดิษฐ์ศิลป์ สนุกกับ Paper Playground (สวนสนุกที่ทำจากกระดาษ), กิจกรรมนิทานเพื่อนรัก, กิจกรรมเสริมพัฒนาการ, กิจกรรมห้องเรียนเขียนหนังสือเด็ก และที่พิเศษสุดคือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ที่ได้มาผ่านการเรียนรู้การเล่นอย่างมีอิสระเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ประกอบด้วยกิจกรรมห้องแล็บกินได้ ความสมดุล และดนตรีมีชีวิต โซน C2 สำหรับกลุ่มอายุระหว่าง 9-18 ปี เน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาการ และได้ทดลองปฏิบัติจริง เช่น นิทรรศการจัดการเรียนบูรณาการด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดเป็นฐานกิจกรรมการเรียนรู้ อาทิ ไบโอดีเซล จากน้ำมันหมูทำอย่างไร, Super Lemon คืออะไร โดยนักเรียนโรงเรียนสาธิตมศว.ปทุมวัน, แก๊สโซฮอลล์คุ้มกว่าดีเซลจริงหรือ, พลังงานทางเลือกสำหรับเศรษฐกิจพอเพียงในอนาคต ฯลฯ นิทรรศการและกิจกรรมของกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
"ผมมั่นใจว่าการจัดงานในครั้งนี้จะได้รับความสนใจจาก เด็ก เยาวชน และพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เนื่องจากภายในงานเป็นแหล่งความรู้ที่มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจและมีหลากหลายกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเลือกหาเลือกชม และได้ทดลองปฏิบัติจริง เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ตรงกับคอนเซ็ปต์ของงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนในปีนี้ที่ว่า "ความรู้ทำทุกสิ่งให้เป็นจริงได้" ซึ่งในปีนี้มีสำนักพิมพ์ที่ร่วมออกงาน 154 ราย จำนวน 309 บูธ และมีพื้นที่จัดงาน 11,000 ตารางเมตร" นายธนะชัย กล่าว
จากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของเด็กและเยาวชน ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มอบหมายให้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ทำการวิจัยสำรวจ พบว่า เยาวชน 5 หัวเมืองใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 12-23 ปี ใช้เวลาอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คถึงวันละ 52.01 นาที ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากทั้ง 5 เมืองเป็นศูนย์กลาง การศึกษา สามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย ไม่ว่าการซื้อจากร้านหนังสือ การเช่าจากร้านหนังสือ หรือการยืมจากห้องสมุด และที่สำคัญการเข้าไปอ่านจากอินเทอร์เน็ต อันเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่เนื้อหาสาระสำคัญๆ ได้ถูกนำเสนอในรูปของดิจิทัลมากขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงสถิติการได้มาซึ่งหนังสือที่จะอ่าน พบว่า ซื้ออ่านเองถึงร้อยละ 61.2 เช่าจากร้านเช่าหนังสือร้อยละ 31.9 ยืมจากห้องสมุดร้อยละ 25.8 และมีถึง 1 ใน 5 ที่อ่านจากอินเตอร์เน็ต
จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คยังพบว่า ร้อยละ 45.0 มีใจรักการอ่าน และร้อยละ 56.4 อยากอ่านเพราะหนังสือเล่มนั้นๆ มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ ซึ่งหมายถึงการมีนิสัยรักการอ่านมีอิทธิพลอย่างมากเป็นพื้นฐานและเมื่อมีหนังสือดีๆ น่าสนใจ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกให้การอ่านเกิดขึ้น
ขณะปัจจัยต้านที่ทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือก็พบว่า เป็นปัญหาของการช่วงชิงเวลา เนื่องจากมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินได้เช่นกัน เช่น การดูโทรทัศน์/วีซีดี ซึ่งเยาวชนกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 65.5 ระบุว่า ชอบดูโทรทัศน์มากกว่าอ่านหนังสือ และสิ่งที่น่าห่วงคือ มีถึงร้อยละ 43.3 ชอบคุยโทรศัพท์มากกว่าอ่านหนังสือ ดังนั้น การขยายตัวของโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและระบบสมาชิกทั้งในเรื่องจำนวนช่อง จำนวนชั่วโมงการออกอากาศ และโปรแกรมการออกรายการ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนผู้อ่านและเวลาที่ใช้ในการอ่าน
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ การแพร่ระบาดของแฟชั่นการมีโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการอนุญาตให้เด็กอายุน้อยๆ และวัยรุ่นมีโทรศัพท์มือถือ จะทำให้การใช้เวลาสำหรับการอ่านหนังสือลดลง และย่อมหมายถึงความรู้ความสามารถของเยาวชนโดยในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะลดน้อยถอยลง ถ้าทุกฝ่ายยังไม่ช่วยกันแก้ไขด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงหนังสือของเยาวชน จนมีนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนในการส่งเสริมการอ่านและการผลิตหนังสือ
ทั้งนี้ จากการสำรวจผลการวิจัยโดยภาพรวม พบว่า เยาวชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 91.5 เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะที่ว่ารัฐบาลควรประกาศนโยบายให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชนมากที่สุด รองลงมาคือตัวอย่างเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะที่ว่าควรทำหนังสือที่มีสาระน่าสนใจมากขึ้น มีการเพิ่มจำนวนห้องสมุด โดยส่งเสริมให้สถานประกอบการทุกแห่งจัดมุมหนังสือหรือห้องอ่านหนังสือ เพิ่มเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ รัฐบาลควรจะจัดให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง และให้มีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชนในแต่ละจังหวัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0 2274 4961-2, 0 2691 6302-4
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net