กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึง ผลการประชุม ASEAN Brussels Committee (ABC) Sub - Committee on Trade (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 เรื่อง การรับรองระเบียบ Emission Trading Scheme (ETS) ของ EU สำหรับการขนส่งทางอากาศ มีสารระสำคัญ ดังนี้
1. คณะกรรมาธิการยุโรปจะประกาศรายชื่อประเทศสมาชิก EU ที่จะเป็นผู้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละสายการบิน (Administering Member State) ซึ่งจะกำหนดขึ้นตามประเทศที่สายการบินนั้นมีเที่ยวบินไปมากที่สุดใน EU ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552
2. สายการบินจะต้องยื่นรายงานการปล่อยก๊าซ (Monitoring Plan) ให้กับ Administering Member State ซึ่งเป็นการปฏิบัติในระยะแรกของระบบ ETS ภายในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2552 หากสาย การบินใดไม่ยื่นข้อมูลจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยก๊าซโดยไม่เสียค่าชดเชยในปี 2555 ซึ่งเท่ากับเป็นการลงโทษ แม้ว่าการยื่นรายงานดังกล่าวไม่ใช่มาตรการบังคับ และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสายการบิน
3. ประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศอาจมีหน่วยงานรับผิดชอบและข้อบังคับด้านกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งการบังคับใช้ระเบียบนี้อาจทำให้สายการบินเปลี่ยนเส้นทางการบินไปยังประเทศนอก EU ที่อยู่ใกล้ EU มากที่สุด ก่อนที่จะบินเข้า EU ต่อไป ซึ่งจะทำให้ระยะทางในการบินสำหรับการคำนวณการปล่อยก๊าซตามระเบียบนี้ลดลง แต่จะทำให้ปริมาณรวมของการก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) จากการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ระเบียบนี้อาจขัดกับ Chicago Convention เนื่องจากกำหนดให้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ประเทศต้นทางนอก EU มายังท่าอากาศยานใน EU ซึ่งเป็นการคำนวณการปล่อยก๊าซนอกน่านฟ้า EU ด้วย และขัดกับข้อบทที่ 15 ของ Chicago Convention เรื่อง Airport and Similar Charges
4. ที่ประชุมองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) มีมติเรื่องการใช้ ETS กับสายการบินระหว่างประเทศเมื่อปี 2550 ว่าควรเป็นเรื่องที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมร่วมกัน (Mutual Consent) ระหว่างประเทศ จึงได้มีมติจัดตั้ง Group International Aviation and Climate (GIACC) ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เยอรมณี ฝรั่งเศส
สวิตเซอร์แลนด์ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และบราซิล เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Carbon Neutral Growth และได้มีการประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อกันยายน 2551 และจะมีการประชุมครั้งต่อไปในช่วงกุมภาพันธ์และมิถุนายน 2552 ก่อนที่จะเสนอแผนปฏิบัติการในการประชุม UNFCCC (COP 15) ในช่วงธันวาคม 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้สหรัฐฯ จะมีความเห็นว่า ระเบียบ ETS ขัดกับ Chicago Convention และไม่เห็นด้วยสำหรับการดำเนินการฝ่ายเดียวของ EU แต่ขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดว่าจะดำเนินการตอบโต้ประเด็นดังกล่าวอย่างไร โดยต้องรอการพิจารณาจากคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ABC Sub - Committee on Trade จะนัดหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการขนส่ง (DG TREN) เกี่ยวกับการเตรียมดำเนินการตามระเบียบ ETS ภายในเดือนมกราคม 2552 นี้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง Monitoring, Reporting and Verification (MRV) Guidance for Aviation in the EU ETS เพื่อประโยชน์สำหรับการเตรียมการของสายการบินในการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ดังนั้นผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/environment/climat/aviation_en.htm
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ โทร 1385
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการค้าต่างประเทศ
โทร. 0 2547 4721 , 08 1700 1817
โทรสาร 02 547 4816 www.dft.go.th, e-mail: tpdft@mocnet.moc.go.th