กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--CPF
น.สพ.บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม (Dr.Boonpeng Santiwattanatam) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจรที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทนำร่อง ในโครงการ “การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทยเกี่ยวกับฉลากคาร์บอน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการค้าที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศไทย อันเป็นการส่งเสริมการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” (Carbon Footprint & Carbon Labelling)
โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม, Institut National de la Recherche Agronomique สาธารณรัฐฝรั่งเศส, University of Santiago de Compostela ประเทศสเปน และ University of Surrey สหราชอาณาจักร โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
“ด้วยศักยภาพของซีพีเอฟที่สามารถทวนสอบย้อนกลับ ตลอดห่วงโซ่อาหาร ทั้งยังมีระบบการเก็บข้อมูลการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำไฟฟ้า และระบบการขนส่งสินค้าที่เชื่อถือได้ คณะผู้วิจัยในโครงการนี้ จึงพิจารณาเลือกซีพีเอฟเข้าเป็นบริษัทนำร่องในโครงการคาร์บอนฟุตพรินท์และฉลากคาร์บอน” น.สพ.บุญเพ็งกล่าวและว่า การวิจัยครั้งนี้จะเป็นการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ต่อการผลิตอาหารประเภท Chicken Snack 1 แพ็ค ซึ่งซีพีเอฟทำการส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยังสหภาพยุโรปด้วย โดยบริษัทจะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) โดยมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเลือกใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ภาคธุรกิจชั้นนำของโลกได้พยายามปรับตัวต่อวิกฤตการณ์โลกร้อน โดยติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label) ควบคู่กับฉลากคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition Facts) เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ดังนั้น ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจของไทยจึงให้ความสนใจและปรับตัวเข้าสู่การผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Consumer) รวมทั้งคู่ค้าในต่างประเทศที่ต่างก็หันมาให้ความสนใจกับภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ CPF
โทร. 02-625-7344-5, 02-631-0641, 02-638-2713
e-mail : pr@cpf.co.th