ความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 14, 2009 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สศร. ได้ผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 แต่ตราบถึงปัจจุบัน คณะรัฐมนตรียังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เนื่องจากในปี 2551 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง รายชื่อคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ที่ สศร. เสนอ ครม. เพื่อแต่งตั้งต้องตกไปทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการวัฒนธรรมแห่งชาติ อธิบดีกรมศิลปากรและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย 8 คน และนักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาอีก 4 คน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. เสนอนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะร่วมสมัยต่อคณะรัฐมนตรี 2. กำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย 3. กำหนดแนวทางในการจัดทำและให้ความเห็นชอบแผนงานและยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับชาติ และเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน 5. วางระเบียบเกี่ยวกับลักษณะของโครงการ การเสนอและการพิจารณาอนุมัติโครงการ หลักเกณฑ์ และวิธีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุน 6. วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์และการจัดการกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง 7. วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน 8. วางระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุน 9. วางระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นี้ ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ กล่าวว่า หาก ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแล้ว คณะกรรมการจะดำเนินการจัดตั้งและบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยของชาติต่อไป สำหรับกฎหมายอนุบัญญัติที่ออกตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 มีจำนวน 8 ฉบับได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริม การตรวจสอบคุณสมบัติ การยื่นคำรับการส่งเสริม และการขึ้นทะเบียนผู้ได้รับการส่งเสริม พ.ศ. .... 2. ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ว่าด้วยลักษณะของโครงการ การเสนอและการพิจารณาอนุมัติโครงการ หลักเกณฑ์และวิธีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการส่งเสริม พ.ศ. .... 3. ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ว่าด้วยการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์และการจัดการกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. .... 4. ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. .... 5. ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ว่าด้วยการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. .... 6. ร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอนุมัติโครงการที่มีวงเงินไม่เกินสองแสนบาทของผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. .... 7. ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการทำสัญญากู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. .... 8. ร่างระเบียบกระทรวงวัฒนธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการและอนุกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. .... ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนร่างกฎหมายอนุบัญญัติอื่นๆ รอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอนุบัญญัติแต่ละฉบับ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแล้ว ศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โทร. 0-2422-8823-5 เว็บไซต์ http://www.ocac.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ