กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ปตท.
ศึกษาและพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ตลอดจนลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดควันดำลงได้ 30% วันนี้ (14 มกราคม 52) ดร. ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และ Mr. Takayuki Suzuki, Executive Technical Advisor, Hino Motors Japan ร่วมเป็นประธานในงานแถลงข่าวปิดโครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ (ระยะเวลาโครงการ 2 ปี 2549 — 2551) ซึ่งเป็นความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ปตท. กับ Hino Motors, Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร. ส่งเกียรติ เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักดีถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้จากพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศที่จะช่วยลดภาระการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท Hino Motors, Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ เพื่อศึกษาวิจัยการใช้ไบโอดีเซลผสมในสัดส่วนต่างๆ ตั้งแต่ B5, B10 และ B20 ในด้านสมรรถนะ มลพิษ และความทนทานของเครื่องยนต์เปรียบเทียบกับการใช้ดีเซลทั่วไป โดย ปตท. เป็นผู้พัฒนาไบโอดีเซลและน้ำมันหล่อลื่นที่เหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่มีไบโอดีเซลผสมในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงจัดหาให้เพียงพอกับการทดสอบ ตลอดจนวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ ส่วนบริษัท Hino Motors, Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนเครื่องยนต์พร้อมอุปกรณ์ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำในการติดตั้งเครื่องยนต์ ขั้นตอนการทดสอบ ตลอดจนวิธีการประเมินผลชิ้นส่วนต่างๆ ภายหลังจากการทดสอบ
ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการทดสอบทางเครื่องยนต์ในด้านการใช้ไบโอดีเซล B5, B10 และ B20 ในเครื่องยนต์ขนาดใหญ่เป็นที่น่าพอใจ ผลการทดสอบมลพิษไอเสียผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานระดับ EURO III และยังส่งผลดีในด้านการลดควันดำลงได้ถึง 30% การประเมินผลกระทบจากการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้นต่อชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ไม่มีความแตกต่างอย่างเป็นนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลทั่วไป นับเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของทั้งสองบริษัทที่มุ่งมั่นพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้เองในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการลดมลพิษที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน
ดร.ส่งเกียรติ ยังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการใช้ B5 กับรถยนต์ดีเซลทุกประเภทเป็นที่ยอบรับกันทั่วไปว่าใช้ได้ ดังนั้น ขั้นตอนในลำดับถัดไปจะเป็นการทดสอบการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่มากกว่า B5 ได้แก่ B10 และ B20 ในภาคสนามเพื่อยืนยันการใช้ ไบโอดีเซล B10 และ B20 กับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ในสภาพการใช้งานจริง จึงกล่าวได้ว่า ปตท.เป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างจริงจังตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ หากผลการวิจัยประสบความสำเร็จและมีการจัดการวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอดีเซลอย่างเพียงพอแล้วก็จะสามารถส่งเสริมในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
โทรศัพท์ 0-2537-2164 ส่วนบริหารสื่อสารองค์กร ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.
โทรสาร 0-2537-2171 www.pttplc.com