กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ว่า ศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection-CBP) ได้ออกประกาศกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า Import Security Filling and Additional Carrier Requirements หรือที่เรียกว่าข้อเสนอ 10+2 Proposal และมีผลบังคับใช้ชั่วคราวตั้งแต่ 24 มกราคม 2552
มาตรการนี้เป็นมาตรการที่กำหนดให้สอดคล้องกับกฎหมาย Security and Accountability for Every (SAFE) Port Act ซึ่งออกมาก่อนหน้านี้ โดยกำหนดให้ผู้นำเข้า (importer) และผู้ขนส่ง (Carrier) ที่ส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต้องจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมทางอิเลคทรอนิกส์เกี่ยวกับสินค้าให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ ก่อนที่จะนำสินค้าลงเรือ ดังนี้
- แผนผังการจัดเรียงสินค้า (vessel stow plan) บนเรือโดยระบุข้อมูลและตำแหน่งของสินค้า
- รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงตู้ขนส่งสินค้า (Container stautus message)เช่น ตู้สินค้าว่างหรือเต็ม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงมาตรการชั่วคราวดังกล่าว จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ก่อนที่จะกำหนดเป็นกฎหมายต่อไป
อนึ่ง กฎหมาย SAFE Port Act ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 กำหนดกฎระเบียบเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยที่ท่าเรือต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Security Filling Data 10 ข้อ คือ
1. ชื่อและที่อยู่โรงงานผลิต (Manufacturer name and address) คือ ชื่อและที่อยู่ของ “manufacturer / producer / grower” สุดท้ายที่เป็นผู้จัดการกับสินค้าก่อนการจัดส่งไปยังสหรัฐฯ ในกรณีที่ไม่สามารถหาชื่อผู้ผลิตได้แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ศุลกากรยอมให้ใช้ชื่อ supplier แทนได้
2. ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย (Seller name and address) * คือชื่อผู้ขายคนสุดท้ายในต่างประเทศที่เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่บนใบสั่งซื้อหรือใบเสร็จ
3. สถานที่ที่สินค้าถูกบรรจุลงตู้ (Container stuffing location) คือสถานที่ในต่างประเทศที่สินค้าถูกบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่จะทำการปิดตู้คอนเทนเนอร์
4. ชื่อและที่อยู่ของผู้ที่จัดการรวบรวมสินค้าลงตู้ (Consolidator name and address) คือจุดในต่างประเทศที่สินค้าถูกบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่จะถูกส่งให้บริษัทเดินเรือดำเนินการส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ที่อาจจะไม่ใช่โรงงานผลิตหรือที่ทำการของผู้จัดส่งสินค้า (Shipper)
5. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ (buyer name and address) คือชื่อที่อยู่ผู้ซื้อคนสุดท้าย 24 ชั่วโมงก่อนที่สินค้าจะถูกขนถ่ายลงเรือที่ท่าเรือในต่างประเทศ *
6. ชื่อและที่อยู่ปลายทางที่สินค้าจะถูกส่งไป (Ship to name and address) คือชื่อและที่อยู่ที่จะเป็นสถานที่ที่จะรับสินค้านั้นไปเก็บไว้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชื่อเดียวกันกับ Consignee
7. หมายเลขของผู้นำเข้า (Importer of record number) คือหมายเลขประจำตัวของบริษัทที่จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการจ่ายชำระค่าธรรมเนียมภาษีนำเข้าสินค้าหรือผู้ที่เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ผู้นำเข้าในที่นี้อาจจะเป็นคนใดคนหนึ่งก็ได้ในกลุ่มนี้ คือผู้รับสินค้า (Consignee) ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้นำเข้า (importer of Record) เจ้าของสินค้าที่แท้จริง ผู้ที่ทำหน้าที่โยกย้ายจัดส่งสินค้า (transferee of the merchandise) ในกรณีที่เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วข้างต้น หมายเลขประจำตัวที่จะต้องระบุใน Security Filing อาจจะเป็นหมายเลขที่ได้จาก IRS (Internal Revenue Service : หน่วยงานสรรพากรสหรัฐฯ) EIN (Employer Identification Number หรือ federal Tax Identification Number : หมายเลขเสียภาษีรัฐบาลกลาง) SSN (Social Security Number : หน่วยงานสวัสดิการสังคม) หรือ CBP (Customs and Border Patrol : หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ)
8. หมายเลขของผู้รับของ (Consignee number) คือ หมายเลข เช่น IRS, EIN, SSN หรือ CBP
9. ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin of Goods)
10. หมายเลขรหัสภาษีศุลกากร (6 หลัก) (Commodity Harmonized Tariff Schedule Number — 6 digits)
* ในกรณีที่เป็นการส่งสินค้าในลักษณะ “no sale” อาจจะใช้ชื่อเจ้าของ (owner) สินค้า แทนที่ชื่อผู้ซื้อ (buyers) หรือชื่อผู้ขาย (sellers) ได้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 2 ของไทยรองจากอาเซียน โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละ 650,000 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาตลาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ส่งออกไทยและสินค้าของไทยในตลาดโลกอีกด้วย