กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการจัดตั้ง “สถานวิจัยวิศวกรรมฟื้นฟู” ซึ่งเป็นสถานวิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมฟื้นฟูแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยในสหสาขา โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการวิจัยและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรม ที่จะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อลดการนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการบางส่วนจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง และปรับปรุงอุปกรณ์บางส่วนให้มีความเหมาะสมกับความพิการที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะบุคคล
“ปัจจุบันผู้พิการในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุขนส่ง โรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงได้รับอันตราย บาดเจ็บ และพิการ โดยเฉพาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ทำให้ทหาร ตำรวจ ข้าราชการตลอดจนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งบรรดาผู้พิการเหล่านี้ต่างต้องการที่จะได้รับการส่งเสริมศักยภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นจำนวนมาก” รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม กล่าว
ประกอบกับการที่กรมการแพทย์ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีพระประสงค์ให้พัฒนาศูนย์กลางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการขึ้นในภาคใต้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงประสานความร่วมมือมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้เป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการในภาคใต้ ร่วมกับโรงพยาบาล สถาบันทางสาธารณสุขในภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุข และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC
สำหรับสถานวิจัยวิศวกรรมฟื้นฟูดังกล่าวได้มีการแบ่งหมวดหมู่ของหัวข้อวิจัยออกเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยีสำหรับคนพิการด้านร่างกาย ด้านการมองเห็น ด้านการได้ยิน ด้านการสื่อสาร ผู้สูงอายุและการดำรงชีวิต และอุปกรณ์การฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีตัวอย่างหัวข้อโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการและจะดำเนินการ เช่น เครื่องทดสอบเท้าเทียม การพัฒนาระบบช่วยการอ่านหนังสือเสียงตามมาตรฐานเดซี่จากเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ขยายสัญญาณจากกล่องเสียงแบบพกพา การตรวจจับและแจ้งเตือนการลุกออกจากเตียงและการเคลื่อนไหวโดยใช้การประมวลผลภาพจาก IP Camera ระบบเตือนการกินยา อุปกรณ์ช่วยยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในลักษณะนั่งและนอน รถเข็นไฟฟ้าที่ใช้ในโรงพยาบาลและในบ้านราคาถูกใช้ง่าย และเตียงปรับมุมยืนและปรับการเอียง เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ NECTEC ได้ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟู โดยจัดสรรงบประมาณแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปีละ 1 ล้าน เป็นเวลา 5 ปี โดยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อมและประสบการณ์การทำวิจัยด้านวิศวกรรมฟื้นฟู เนื่องจากคณาจารย์มีประสบการณ์การทำวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ NECTEC ที่จะดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการจากความไม่สงบในภาคใต้ ได้แก่ การพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด เครื่องช่วยกลืนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ที่ได้วิจัยร่วมกับแพทย์และนำไปใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาอย่างต่อเนื่อง และจดสิทธิบัตรแล้วทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเก้าอี้รถเข็น และ รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น
บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com