กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นักวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบพะยูนบริเวณอ่าวตังเข็น แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต หลังจากไม่ได้พบในบริเวณนี้มาเกือบ 30 ปี หวั่นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวจะทำให้พะยูนหายไป
นางกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมง 8 ว หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2551 คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ภูเก็ต นำทีมโดยนายเผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมง ได้สำรวจพบรอยกินหญ้าทะเลของพะยูน (feeding trails) จำนวนมากที่อ่าวตังเข็น แหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเวลานานแล้วที่มีการพบพะยูนที่อ่าวตังเข็นนี้ โดยสถาบันฯ เคยได้พบพะยูนความยาว 2.8 เมตรที่กอ่าวตังเข็น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้รับข่าวว่ามีพะยูนเข้ามาในอ่าวตัวเข็นอีกเลย จึงทำให้ทีมงานเกิดความสนใจที่จะค้นหาตัวพะยูนเป็น ๆ
ทั้งนี้ ทีมงานได้ขออนุญาตโรงแรมเดอะรีเจนต์ที่ตั้งอยู่บนเขาสูงด้านขวาของอ่าวตังเข็นเพื่อขึ้นไปสังเกตพะยูน และตื่นเต้นมาก เพราะเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 เวลาประมาณ 10:00 น. ได้พบพะยูนจำนวน 1 ตัวโผล่ขึ้นมาหายใจและดำลงไปกินหญ้าทะเลในบริเวณแนวหญ้าทะเลกลางอ่าว เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง และทีมงานสามารถบันทึกภาพไว้ได้ หลังจากนั้นทีมงานก็เพียรเฝ้าสังเกตพะยูนจากโรงแรมเดอะรีเจนต์เกือบทุกวัน โดยสามารถสังเกตเห็นพะยูนได้ 5 ครั้งใน 4 วัน (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2551, วันที่ 6, 7 และ 9 ธันวาคม 2551) จากการเฝ้าสังเกตทั้งหมด 26 ครั้ง และพบว่าพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงน้ำทะเลขึ้นเต็มฝั่ง
พะยูนตัวดังกล่าวมีขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร เข้ามากินหญ้าทะเลในอ่าวตังเข็นในช่วงน้ำทะเลขึ้น บางครั้งพบเห็นเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยจะกินหญ้าทะเลและขึ้นมาหายใจทุก 2-3 นาที และในช่วงน้ำทะเลลง ทีมงานได้สำรวจและติดตามรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนมาตลอดเวลา 2 เดือนเศษ มีการวางทุ่นเพื่อกำหนดบริเวณพื้นที่ที่ศึกษาจำนวน 5 ทุ่น พร้อมทำเครื่องหมายรอยกินของพะยูนเพื่อให้สามารถติดตามรอยกินครั้งใหม่ ๆ ได้ถูกต้อง และได้พบรอยกินวันละ 19-30 รอย ซึ่งรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนมีความกว้างประมาณ 15 เซนติเมตรและความยาวประมาณ 2 เมตร
“ สิ่งที่น่าห่วงใย คือ หาดแห่งนี้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์มาก ชายหาดด้านในมีแหล่งหญ้าทะเล ส่วนด้านนอกเป็นแนวปะการัง และด้านขวาของหาดเป็นป่าชายเลน จากเดิมที่อ่าวนี้มีเฉพาะชาวบ้านและชาวประมงขนาดเล็กเพียงไม่กี่หลังคาเรือน แทบไม่มีการทำการประมงในอ่าวนี้เลย ชาวบ้านอาจหาเก็บหอยเป็นครั้งคราวในตอนน้ำลง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาชายหาดของอ่าวตังเข็นเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ และหากมีการสร้างท่าเทียบเรือหรือมีเรือเร็วเข้าออกในอ่าวนี้ พะยูนคงจะอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน” นักวิชาการ ทช. กล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กลุ่มสื่อสารองค์กร www.dmcr.go.th