SBAC เปิดบ้านสอนน้องทำอะนิเมชั่น ผลิต “สื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 16, 2009 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ SBAC จับมือ สรส.เปิดบ้านสอนเยาวชนในเครือข่ายสถานศึกษาพอเพียง ภาคกลางและภาคตะวันออก ผลิตสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยเทคนิคอะนิเมชั่น หวังใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแบบใหม่ ดึงดูดความสนใจเยาวชน เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ ( SBAC) ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดบ้านสอนเทคนิคการทำอะนิเมชั่นเบื้องต้นแก่น้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเครือข่ายสถานศึกษาพอเพียงเขตภาคกลางและภาคตะวันออกขึ้นในชื่อ “โครงการสื่อสร้างสรรค์ บนวิถีพอเพียง” โดยมีนักเรียนและครูกว่า 30 คนจาก 11 โรงเรียนเข้ารับการอบรม คุณชยุต อินทร์พรหม ผู้ประสานงานภาคกลางและภาคตะวันออก สรส. กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เยาวชนไทยมีความเข้าใจและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชีวิตและการทำงานให้ประสบความสำเร็จและมีความสุข พบว่า สื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญอย่างมาก “ที่ผ่านมา สถานศึกษาต่างๆ จะมีการผลิตสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ทั้งในรูปแบบแผ่นพับ ภาพวาด กลอน นิทาน ไฟล์พาวเวอร์พอยต์ และสื่อวิดีทัศน์ ซึ่งกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้เพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ดูเนื้อหามากกว่ารูปแบบ แต่ไม่ดึงดูดความสนใจของเด็กและเยาวชนที่ต้องการสื่อที่สนุกสนาน สื่ออะนิเมชั่นจึงเป็นสื่อใหม่ที่น่าสนใจเพราะมีลูกเล่นหลากหลาย นักเรียนทำเองได้ และสะดวกในการนำออกเผยแพร่ในรูปซีดีหรือเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” ชยุตกล่าว ที่มาของการอบรมครั้งนี้เกิดจาก สรส.เล็งเห็นว่า SBAC ซึ่งเป็นสถานศึกษาในเครือข่ายมีความชำนาญในการผลิตสื่ออะนิเมชั่น จึงขอความร่วมมือให้จัดการอบรมเยาวชนในเครือข่ายให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยเทคนิคอะนิเมชั่นอย่างง่าย เพื่อให้เกิดสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนที่มีความน่าสนใจมากขึ้น หรือเพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่ขยายผลสู่โรงเรียนหรือชุมชน อาจารย์ไพศาล รัตนวรรณ ผู้จัดโปรแกรมการอบรมจาก SBAC กล่าวว่า เทคนิคการทำสื่ออะนิเมชั่นอย่างง่าย ประกอบด้วยการอบรมพื้นฐานการตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop การทำภาพอะนิเมชั่น 2 มิติด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator และโปรแกรม Swish ผู้รับการอบรมจะได้ทราบถึงหลักการสร้างสื่อการสอนทั่วไป หลักการออกแบบการ์ตูน 2 มิติและ 3 มิติ ความรู้พื้นฐานในการใช้แถบอุปกรณ์วาดรูป การใช้สี การตกแต่งภาพ และการทำภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับการทำสื่อการเรียนรู้ด้วยอะนิเมชั่นอย่างง่าย “การอบรมตลอด 1 วันครึ่งได้ผลค่อนข้างดี น่าทึ่ง เพราะน้องๆ เริ่มทำอะนิเมชั่นได้แล้ว หากศึกษาเพิ่มเติมอีกก็น่าจะทำได้น่าสนใจยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะทุกคนมีความตั้งใจดี ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว จากปกติการอบรมทำอะนิเมชั่นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 วัน หรือเป็นวิชาเรียนก็ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมกัน 30 ชั่วโมง” อาจารย์ไพศาลกล่าว การอบรมครั้งนี้ นอกจากเยาวชนจะได้ความรู้ในการผลิตสื่อการเรียนรู้ด้วยเทคนิคอะนิเมชั่นแล้ว หลังการอบรม นักเรียนและครูที่เข้ารับการอบรมยังจะนำความรู้ไปจัดทำสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนด้วย เทคนิคอะนิเมชั่นภายใต้โครงเรื่อง “วิถีพอเพียงในโรงเรียนของฉัน” ซึ่งจะต้องมีเนื้อหาถูกต้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูภาษาไทย ครูคอมพิวเตอร์ และครูศิลปะให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น นอกจากจะใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาแล้ว ผลงานเด่นยังจะได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในห้องย่อย “ผลงานนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” ภายในเวทีการเรียนรู้ เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ระหว่างวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ ณ โรงแรมวรบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นมหกรรมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนของมูลนิธิสยามกัมมาจลจากทุกภูมิภาคของประเทศ อาจารย์อภิชาฎ พงษ์ภู่ ครูเศรษฐกิจพอเพียงและครูคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัดพร้าว จ.พิจิตร แสดงความคิดเห็นว่า ในการจัดทำสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยอะนิเมชั่น เยาวชนจะต้องเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงก่อนเป็นอันดับแรก ไม่เช่นนั้น เยาวชนในฐานะผู้กำกับของสื่อการเรียนรู้จะไม่สามารถถ่ายทอดสาระของเศรษฐกิจพอเพียงได้ จึงเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องอบรมลูกศิษย์ให้เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงก่อนเริ่มต้นผลิตสื่อการเรียนรู้ ด.ช.ฐานกรณ์ พงษ์สุข หนุ่มน้อยผู้ชื่นชอบคอมพิวเตอร์ และ ด.ช.ลลิต ชีวะบุญญากูล หนุ่มชาวเขาผู้มีใจรักในงานศิลปะ สองนักเรียนชั้น ม . 2 ลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์อภิชาฎ กล่าวว่า จะนำเทคนิคที่ได้ไปผลิตสื่ออะนิเมชั่นเล่าเรื่องราวของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน โดยเฉพาะกิจกรรม “จิตอาสาสู่ชุมชน” ที่แต่ละเดือนครูและนักเรียนจะบริจาคเงินมอบให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านโดยการสุ่มเลือก เพื่อให้ผู้สูงอายุซึ่งขาดคนดูแลได้นำเงินประมาณ 7- 8 ร้อยบาทในแต่ละคราวใช้เป็นปัจจัยครองชีพ คุณสุจินดา งามวุฒิพร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ช่วงเวลาของการอบรมครั้งนี้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ถือเป็นการปูพื้นความรู้ สิ่งที่ทางมูลนิธิอยากเห็นก็คือการนำความรู้ที่ได้จากค่ายนี้ไปต่อยอด เพิ่มทักษะ แล้วสร้างสรรค์เป็นผลงานส่งเข้ามา ซึ่งเราจะมีคณะกรรมการคัดเลือกผลงานที่มีแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจนและถูกต้องมาแสดงในงานเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง เพื่อสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างง่ายๆ เป็นสื่อที่สะท้อนได้ว่าเราเลือกตัดสินใจที่จะทำอะไร เพราะอะไร ทำแล้วมันดี มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ สื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่สร้างสรรค์โดยน้องๆ และคณาจารย์จากสถานศึกษาพอเพียงในเครือข่ายภาคกลางและภาคตะวันออกก็จะแล้วเสร็จ และเชื่อว่าจะเป็นสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเก่าแน่นอน. ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884, 0-2544-5692 หรือติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ