iTAP สวทช. แนะการใช้เทคนิคการผลิตแบบง่าย สร้างโอกาส เพิ่มทางรอด SMEs ยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

ข่าวทั่วไป Friday January 16, 2009 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สวทช. โครงการ iTAP สวทช. จับมือพันธมิตร จัดผู้เชี่ยวชาญเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือน พร้อมแนะการใช้เครื่องมือและเทคนิคการผลิตด้วยวิธีการแบบง่ายๆ แต่ได้ผลประโยชน์คุ้มค่า นับเป็นโอกาสทองที่ไม่ควรพลาด มั่นใจสามารถใช้สู้ศึกคู่แข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ เทคนิควิศวกรรมอุตสาหการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับสถานประกอบการ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยผลที่ได้สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการทำงานในรูปแบบเดิม รวมทั้ง การควบคุมคุณภาพในสายการผลิตเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ทำการผลิตตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดทำโครงการ “พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” พร้อมทั้งอบรมสัมมนาในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคนิควิศวกรรมอุตสาหการในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือน” เพื่อให้ความรู้และเทคนิคการผลิต ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็ง และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ในตลาดโลก อาจารย์สงกรานต์ บางศรัณย์ทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า จากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการที่จะสามารถอยู่รอดได้ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสภาวการณ์ของตลาด การดำเนินการปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการยืนหยัดต่อไปได้อย่างมั่นคง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการจัดอบรมในหลักสูตรการเพิ่มผลผลิตนั้นมีมากมายก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นการอบรมในเชิงทฤษฎี ทำให้ความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับและประยุกต์ใช้กับรูปแบบการทำงานของโรงงานได้อย่างเข้าใจจริงหรือไม่ ซึ่งมีส่วนน้อยที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเกิดผล เพราะขาดผู้คอยชี้แนะและติดตามผล ทำให้เกิดความท้อแท้และล้มเลิกไปในที่สุด ขณะที่ชุดหลักสูตรครั้งนี้นอกจากจะได้เรียนรู้ในเชิงวิชาการ และการประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติแล้ว ผู้เข้าอบรมจะได้ทำกิจกรรมการเพิ่มผลผลิต โดยใช้ตัวอย่างจริงๆ ในสถานประกอบการของผู้เข้าอบรมเองในช่วงของการทำ Workshop (ฝึกปฏิบัติจริงในห้องอบรม) อีกทั้งยังได้รับการติดตามและแนะนำจากทีมผู้เชี่ยวชาญในลักษณะเป็นกิจกรรมที่ปรึกษาต่อเนื่องจากการฝึกอบรม ทำให้โอกาสที่ผลสำเร็จที่จะเกิดกับสถานประกอบการจริงๆ ในการเพิ่มผลผลิตมีความเป็นไปได้สูงกว่ารูปแบบการอบรมทั่วๆ ไป “อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนมีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งกับผู้ผลิตภายในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ดังนั้นการนำศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ คือเทคนิคที่มีการบูรณาการ เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งด้านการออกแบบ และกำหนดระบบการผลิตซึ่งประกอบขึ้นจากคน วัตถุดิบ และเครื่องจักร มาเป็นเครื่องมือจัดการทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้” อาจารย์สงกรานต์กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาเรามักสูญเสียลูกค้าให้กับประเทศจีน เวียดนาม และอีกหลายประเทศ ในเรื่องของต้นทุนที่มีความแตกต่างกันมากจนเราสู้เขาไม่ได้ ทั้งๆ ที่คุณภาพทัดเทียมกันหรือมากกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มผลผลิตในโรงงานจากกระบวนการทำงานโดยใช้เครื่องมือตัวนี้ ซึ่งข้อดีก็คือ มีต้นทุนในการใช้ที่ต่ำมาก อีกทั้งไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น นับเป็นเครื่องมือที่ลงทุนต่ำแต่ให้ประสิทธิภาพสูง “ปัญหาที่ผู้ประกอบการมักพบบ่อยๆ คือเรื่องของการบริหารจัดการ การนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ที่ยังคงมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมด้านอื่น ขณะที่ส่วนหนักๆ จะไปอยู่ที่การลงทุนเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งแท้จริงแล้วการศึกษาการทำงานเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาคน เพราะ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในกระบวนการของโรงงาน ฉะนั้นถ้าโรงงานหันมาให้ความสำคัญในส่วนนี้ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2552 ยอดการสั่งซื้อจะไม่พุ่งสูงมากนัก อาจเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะหันมาเร่งเสริมศักยภาพด้านการผลิตและการบริหารจัดการเพื่อรองรับในปีต่อไป คงดีกว่าที่จะปล่อยโอกาสทองให้หลุดมือไปโดยเปล่าประโยชน์” อาจารย์สงกรานต์ กล่าวทิ้งท้าย ด้าน ดร.อภินันทนา อุดมศักดิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวในเรื่องของการประยุกต์ใช้ 7QC Tools ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนว่า เครื่องมือ 7 อย่างสำหรับการควบคุมคุณภาพประกอบด้วย ใบตรวจสอบ แผนภาพพาเรโต กราฟ แผนภาพสาเหตุและผล แผนภาพการกระจาย แผนภูมิควบคุม และฮีสโตแกรม ซึ่ง 7 QC Tools เป็นเครื่องมือทางสถิติอย่างง่ายอีกประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพในสายการผลิต และยังสามารถนำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาคุณภาพและแนวทางแก้ไขหรือพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย. ต้องการข้อมูลหรือภาพประกอบเพิ่มเติม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.) โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 104, 114 ,115 ค่ะ คุณนก มือถือ. 0-81421-8133 คุณเกด มือถือ. 0-81575-6477

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ