กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สวทช.
นักวิจัย มอ. ศึกษามูลค่าค้างคาวเล็บกุดในการผสมเกสรพืชเศรษฐกิจภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียนและสะตอ พบช่วยผสมเกสร 80-100 % คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้สูงถึง 4,400 ล้านบาท/ปี เผยเตรียมศึกษาข้อมูลนิเวศวิทยาและปัจจัยการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาวเชิงลึก เล็งทดลองสร้างบ้านให้ค้างคาวอยู่ในอนาคต หวังช่วยผสมเกสรพืช กำจัดแมลงให้เกษตรกร ทั้งยังสามารถเก็บมูลค้างคาวมาทำปุ๋ยชั้นดีจำหน่ายได้อีกด้วย
ดร.สาระ บำรุงศรี นักวิจัยความหลากหลายของค้างคาวในประเทศไทย จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ค้างคาว หลายชนิด มีอันต้องสูญพันธุ์เนื่องจากถูกจับมาบริโภคตามความเชื่อที่ผิดๆ และถูกทำร้ายเพราะถูกมองว่าเป็นสัตว์ทำลายพืชพันธุ์ของเกษตรกร ทั้งที่ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าค้างคาวหลายชนิด เช่น ค้างคาวเล็บกุด เป็นตัวการหลักที่ช่วยผสมเกสรให้พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด อาทิ สะตอ ลูกเหรียง ทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธุ์ เพกา นุ่น ไม้ลำพู หากแต่ว่าทัศนคติที่ไม่ดีต่อค้างคาวกลับยังไม่ดีขึ้นนัก ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงได้ทำงานวิจัย “ประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของค้างคาวเล็บกุดในการผสมเกสรพืชเศรษฐกิจภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียนและสะตอ” โดยเป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของนางสาวคันทรัตน์ จันทมุนี นักศึกษาคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มอ. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ รุ่งตะวันเรืองศรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก โดยมุ่งหวังชี้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทของค้าวคาวที่มีสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศและมนุษย์
“เริ่มต้นทีมวิจัยได้ติดตามบทบาทของค้าวคาวเล็บกุดในการผสมเกสรพืช 2 ชนิด คือ ต้นทุเรียนและสะตอ พบว่า ค้างคาวเล็บกุดมีส่วนช่วยผสมเกสร 80-100 % และมีการออกหากินรอบถ้ำที่อาศัยอยู่เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร จากนั้นทำการเก็บข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกและตัวเลขผลผลิตทุเรียนและสะตอของเกษตรกรในบริเวณที่อยู่ในระยะการหากินของค้างคาว 4 ถ้ำในจังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง จาก สำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อนำมาคำนวณเป็นรายได้สุทธิและหักลบส่วนที่เป็นต้นทุน อาทิ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ เป็นต้น ออกจากตัวเลขสุทธิ ก็พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ค้างคาวเล็บกุดช่วยผสมเกสรทุเรียนและสะตอคิดเป็นมูลค่าประมาณ 420 ล้านบาทต่อปี และเมื่อนำมาใช้คำนวณพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนและสะตอที่อยู่ในบริเวณระยะการหากินของค้างคาวทั้งภาคใต้ พบว่าสามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4400 ล้านทีเดียว”
ดร.สาระ กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าของค้างคาวไม่ได้มีเพียงช่วยผสมเกสรเท่านั้น แต่ค้างคาวบางชนิด เช่น ค้างคาวปากย่นยังสามารถช่วยกำจัดเพลี้ยกระโดดที่เป็นศัตรูพืชของข้าวได้อีกด้วย จากการศึกษาวิจัยที่เขาช่องพราน จ.ราชบุรี พบว่า ใน 1 คืน ค้างคาวปากย่นกินเพลี้ยกระโดดได้ถึงคืนละเกือบ 20 ตัน ซึ่งควรที่จะศึกษาถึงมูลค่าของการควบคุมแมลงศัตรูนาข้าวของค้างคาวเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยได้เตรียมศึกษาถึงนิเวศวิทยาและปัจจัยการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาวในเชิงลึก สำหรับการทดลองสร้างบ้านให้ค้างคาวอยู่เช่นเดียวกับนกแสกในอนาคต เชื่อว่าไม่เพียงมีประโยชน์ช่วยผสมเกสรพืชและกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว เกษตรกรยังสามารถเก็บมูลค้างคาวมาทำปุ๋ยขายได้ในราคาดี เนื่องจากมูลค้าวคาวจัดเป็นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงที่สุด โดยทุกวันนี้ที่เขาช่องพราน จ. ราชบุรี ได้มีการเก็บมูลค้างคาวขายกิโลกรัมละ 10-15 บาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี และมีประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางมาเพื่อต่อคิวซื้อจำนวนมากทีเดียว
อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องที่ว่าค้างคาวเป็นผู้ทำลายผลไม้นั้น ดร.สาระ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามีส่วนจริงเพราะค้างคาวบางชนิดกินผลไม้เป็นอาหาร แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าความเสียหายกับประโยชน์ที่ได้รับจากค้างคาวนั้นว่าเทียบกันได้หรือไม่ เพราะค้างคาวมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพียง 30 กรัม กินได้เต็มที่ก็เพียง 30 กรัม อีกทั้งค้างคาวจะเลือกกินเฉพาะผลไม้ที่สุกจริงๆ ถ้าไม่สุกกลิ่นจะไม่แรงพอที่จะดึงดูดค้างคาวได้ ผลไม้ที่เกษตรกรส่วนใหญ่นำมาขายก็เป็นผลไม้ที่แก่ซึ่งยังไม่สุกมาก ค้างคาวจึงกินแต่เพียงผลไม้ที่เหลือติดต้นเท่านั้น นอกจากนี้การที่ค้างคาวช่วยกินผลไม้ที่สุกมากออกจากต้นเท่ากับช่วยลดปัญหาหนอนศัตรูพืชออกไปด้วย โดยสิ่งสำคัญที่อยากให้ประชาชนคิดและตระหนักให้มาก คือ ความสมดุลของธรรมชาติ ในเมื่อค้างคาวช่วยผสมเกสรสร้างอาหารให้กับมนุษย์แล้ว มนุษย์เองก็ควรคืนอาหารเพียงเล็กๆน้อยให้กับค้างคาวในธรรมชาติบ้างเช่นกัน
ข้อมูลค้าวคาวเล็บกุด
ค้างคาวเล็บกุด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในอันดับ Chiroptera อันดับย่อย Megachiroptera มีลักษณะทั่วไปเป็นค้างคาวกินผลไม้ขนาดเล็กและน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้เป็นอาหาร มีความยาวลำตัวประมาณ 85-125 มม. หางยาวประมาณ 12-33 มม.ปีกยาวประมาณ 60-81 มม. ค้างคาวเล็บกุดตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย สำหรับลักษณะโดดเด่นของค้างคาวเล็บกุดอยู่ตรงที่ นิ้วชี้นั้นไม่มีเล็บสำหรับเกาะเกี่ยว กิ่งไม้ ผลไม้ หรือดอกไม้เพื่อกินน้ำหวานเป็นอาหาร ดังเช่นค้างคาวชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อค้างคาวชนิดนี้
ค้างคาวเล็บกุดชอบใช้ชีวิตอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบได้ตั้งแต่กลุ่มละประมาณ 10-20 ตัว จนถึงกลุ่มละหลายหมื่นตัว ค้างคาวตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 1 ปี ในขณะที่ตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 2 ปี ตัวเมียสามารถมีลูกได้ทุกเวลาตลอดทั้งปี โดยมีระยะเวลาตั้งท้องจะกินเวลา 6 เดือน หรือยาวนานถึง 200 วัน และจะให้กำเนิดลูกคราวละ 1 ตัว เท่านั้น
ค้าวคาวเล็บกุดช่วยผสมพันธุ์เกสรดอกไม้ โดยเวลาค้างคาวเข้าไปกินน้ำหวานซึ่งอยู่บริเวณส่วนบนของดอก ลำตัวและหน้าของค้างคาวจะสัมผัสกับละอองเรณู และเมื่อค้างคาวไปกินน้ำหวานจากดอกอื่นๆ ก็จะนำเอาเกสรดังกล่าวไปผสมให้โดยอัตโนมัติ
ปัจจุบันชนิดค้างคาวเล็บกุดที่สำรวจพบทั่วโลกมีทั้งหมด 4 ชนิดด้วยกันคือ Eonycteris robusta ,E.major, E. rosenbergi และ E. spelaea โดย E. spelaea นั้นเป็นชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย มีแหล่งอาศัยพบอยู่ในแถบป่าดิบชื้นระดับต่ำ ป่าชายเลน และมักจะเกาะนอนในถ้ำ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย
ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482
e-mail : thaismc@nstda.or.th