กพช. เห็นชอบการช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 16, 2009 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ก.พลังงาน นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการลดผลกระทบต่อประชาชนจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน โดยเห็นชอบในหลักการให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในวันที่ 1 ก.พ. 2552 นี้ โดยการปรับลดอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราหนึ่ง เพื่อให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทต่อลิตร หลังจากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกปรับสูงขึ้นประมาณ 1 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะมีการปรับประมาณ 3 — 4 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน ซึ่งมอบหมายให้ กบง. ดำเนินการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ น้อยที่สุด ซึ่งคาดว่าประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) พ.ศ. 2551 — 2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยมีการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตามการประมาณการณ์ค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2552 ของสภาพัฒน์ฯ จากเดิมร้อยละ 4.5 เป็น ร้อยละ 2 โดยรักษากำลังการผลิตสำรองในระดับร้อยละ 15 — 20 และเพื่อให้มีการจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับการประมาณการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีการพิจารณาปรับเลื่อนโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ IPP ออกไป ในขณะที่เร่งรัดการลงทุนตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ให้เร็วขึ้นและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 104,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2552 — 2556 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดหนี้สาธารณะจากการลงทุนของ กฟผ. รวมทั้งยังได้พิจารณาทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเสียงและเพิ่มความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยในช่วงปี 2552 — 2564 จะมีโครงการด้านการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ. ได้ดำเนินการเองจำนวน 15,768.7 เมกะวัตต์ การซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จำนวน 7,600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กจำนวน 1,985.5 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 5,036.6 เมกะวัตต์ รวมเงินลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเป็นเงินทั้งสิ้น 1,647,984 ล้านบาท หรือลดลงจากแผนเดิมได้ 459,550 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ