กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สวทช.
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า การบ่มเพาะธุรกิจ เป็นกลไกหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วโลกนิยมใช้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นกลไกที่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทั้งขนาดกลาง และขนาดย่อมได้อย่างเป็นระบบ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายศักยภาพขององค์กรและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อให้คำปรึกษา ฝึกอบรม และถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนเป็นการบูรณาการกลไกความช่วยเหลือและการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบครบวงจร
สำหรับในประเทศไทยนั้น หน่วยงานหลักที่ให้การส่งเสริมกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ได้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยสำหรับดำเนินการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจขึ้น เพื่อส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการรายใหม่อย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันภายใต้แนวทางของการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคของสวทช. ซึ่งเริ่มต้นจากการให้มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีขึ้น เพื่อเป็นการวางรากฐานงานบริการแก่เอกชนแล้วขยายผลเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคต่อไปในอนาคต
ดังนั้น เพื่อสร้างศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศทั้ง 3 หน่วยงานจึงมีแนวคิดร่วมกันในการจัดตั้ง “สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Business Incubators and Science Parks Association, Thai-BISPA)” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา การสร้างเสริมขีดความสามารถของบุคลากรผู้บริหารหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ให้มีความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือเอกชนที่เข้ามาใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเป็นศูนย์กลางของการติดต่อกับเครือข่ายหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ และเป็นประชาคมของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ และอุทยานเทคโนโลยีต่างๆในประเทศไทย อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งขณะนี้สมาคม Thai-BISPA ได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในเดือนนี้
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ กล่าวว่า บทบาทของ สวทช. โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) มีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม และการริเริ่มสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ มีกิจกรรมและกลไกต่างๆ อาทิ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการยกระดับเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม และมีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ และอุทยานเทคโนโลยี เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator, UBI) โดยมีเป้าหมายให้ UBI ทำหน้าที่บ่มเพาะให้เกิด “ผู้ประกอบการใหม่” และ “บริษัทจัดตั้งใหม่” (Start-up Companies) ที่จะได้รับการดูแลให้มีพัฒนาการเติบโต โดยใช้ข้อได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมทางวิชาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาเป็น “บริษัทธุรกิจเต็มรูปในอนาคต”
(Spin-off Companies) รวมทั้งเป็นช่องทางการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่สร้างในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาสู่กระบวนการใช้งานเชิงพาณิชย์ สร้างวงจรรายได้ ผลประโยชน์กลับสู่สถาบันอุดมศึกษาและประเทศในระยะยาว โดยบทบาทของ สกอ. ในสมาคม Thai-BISPA จะสนับสนุนการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัย และหน่วยให้บริการอื่นภายในสมาคม เพื่อใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาของสถาบันอุดมศึกษา ร่วมพัฒนาวิสาหกิจในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สสว. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของประเทศ ได้เล็งเห็นว่าระบบบ่มเพาะวิสาหกิจ มีความสำคัญต่อการพัฒนา SMEs จึงได้จัดตั้งโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นในปี 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการ SMEs ที่เน้นการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ พร้อมกับการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ความช่วยเหลือของทีมพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน สสว. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน หน่วยงานภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการไทย หอการค้าไทย จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจรวม 20 แห่ง โดยดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะเดียวกัน สสว. ยังจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านบ่มเพาะ เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จ
“สำหรับความร่วมมือระหว่าง สสว. สวทช. และ สกอ. ในการจัดตั้งสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย หรือ Thai—BISPA ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาระบบบ่มเพาะธุรกิจ ให้สามารถช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ที่จะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกันแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการก็สามารถใช้บริการของ สสว. และศูนย์บ่มเพาะฯ ที่เป็นสมาชิก ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายภักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ สวทช. สกอ. และสสว. ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการและการเปิดตัวสมาคม Thai-BISPA ขึ้น เพื่อเป็นการเปิดตัวสมาคม Thai-BISPA โดยมีรูปแบบของกิจกรรม อันได้แก่ การประชุม/สัมมนาวิชาการ และนิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งสาม ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจแก่สาธารณชนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างเครือข่ายหน่วยบ่มเพาะธุรกิจต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com